สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นการให้ความรู้ต่อเนื่องจากบทความ เจ้าหนี้ไม่มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ค้ำประกัน เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ฟ้อง ที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 คอลัมน์คนดังนั่งเขียน ทางไทยรัฐออนไลน์

ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ำประกันมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันมากขึ้น และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ในการใช้วิจารณญาณในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แถมยังมีกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้เกี่ยวกับการทวงหนี้อีกหนึ่งฉบับ ทวงหนี้สุ่มสี่สุ่มห้าก็เสี่ยงติดคุกติดตะรางครับ

ผู้ค้ำประกันเปรียบเสมือนพ่อพระโดยแท้ เรียกได้ว่า “เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่งกลับเอากระดูกมาแขวนคอ” ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงออกแบบมา เพื่อคุ้มครองผู้ค้ำประกันมากยิ่งขึ้น ในส่วนเรื่องของการตีความตัวอักษร หากสัญญาเขียนไม่ชัดเจน การตีความตามตัวอักษร ก็จะตีความให้เป็นคุณสำหรับผู้ค้ำประกันด้วย

โดยเฉพาะ ปพพ. มาตรา 686 กำหนดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันตามกำหนดเวลาดังกล่าว ก็มีคำพิพากษาฎีกาอย่างน้อย 2 ฉบับ ยืนยันว่า เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจฟ้อง อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560 และ 4603/2562

ส่วนเจ้าหนี้จะมีสิทธิ์นำคดีขึ้นมาฟ้องใหม่ได้หรือไม่ ยังไม่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ส่วนตัวมองว่าสามารถทำได้ เนื่องจากศาลยังไม่วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเนื้อหาแห่งคดี จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ทั้งนี้ ต้องรอคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานอีกครั้ง ซึ่งผมเคยได้เขียนไว้ในบทความไปแล้ว ในคอลัมน์คนดังนั่งเขียน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ดังที่กล่าวมาข้างต้น

...

มีปัญหาที่น่าสนใจอีก คือ ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันลงนามในสัญญาค้ำประกันไว้ก่อนที่กฎหมายส่วนค้ำประกันจะแก้ไขและมีผลบังคับใช้ เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 หรือไม่ เช่น

สัญญาค้ำประกันลงนามกันไว้ตั้งแต่ปี 2550 ลูกหนี้ชั้นต้นปฏิบัติการชำระหนี้ตามข้อตกลงมาโดยตลอด ต่อมาลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ในปี 2556 เจ้าหนี้ยื่นฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นและผู้ค้ำประกัน ในปี 2559 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว (ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นตันไป)

กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่า แม้สัญญาจะจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ก็ตาม แต่เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในปี 2556 ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงมีผลบังคับใช้หรือผูกพันผู้ค้ำประกันในปี 2556 และต้องปฏิบัติตามกฎหมายเก่า แม้จะยื่นฟ้องในปี 2559 ก็ตาม เจ้าหนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับจากวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุป เจ้าหนี้มีหน้าที่จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ให้พิจารณาจากวันที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้เป็นหลัก หากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ก่อนวันที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ เจ้าหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ปพพ. มาตรา 686 แต่หากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ภายหลังจากที่กฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว คือ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหนี้จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันตามหลักกฎหมายดังกล่าว

กรณีที่เจ้าหนี้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน เจ้าหนี้ก็จะไม่มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกัน ตามแนวคำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับดังที่กล่าวมาแล้ว

สุดท้ายนี้ หากท่านจะตัดสินใจลงนามในสัญญาค้ำประกันให้กับบุคคลใดก็ตาม ขอให้ท่านพิจารณาศักยภาพในการชำระหนี้แทนลูกหนี้ชั้นต้นด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดือดร้อนกับท่านและครอบครัวในอนาคต

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

Instagram: james.lk