คนไทยหวาดโควิด–19 หาสมุนไพรขิง กะเพรา หอมใหญ่ ฟ้าทะลายโจรมาป้องกัน ตัวเอง...แต่ยังมีสมุนไพรอีกชนิดที่เคยถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัดนก (H5N1) มาแล้ว

“พลูคาวมีประวัติใช้เป็นยาสมุนไพรมาอย่างยาวนาน มีบันทึกทั้งในตำราการแพทย์ของจีนและไทย นิยมใช้ในการรักษาการอักเสบ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส จากการวิจัยเราพบว่าพลูคาวมีสารต้านเชื้อไวรัสได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคเริม เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสโรคเอดส์ เชื้อโรคซาร์ส รวมทั้งไข้หวัดนกที่ระบาดในช่วงปี 2546-2549 เราได้ทดลองนำไปใช้กับผู้ป่วยหลายราย ผลปรากฏออกมาว่าใช้ลดการติดเชื้อได้”

ส่วนการนำมาใช้กับโควิด-19 นายอุดม รินคำ เภสัชกรและนักวิชาการ อิสระ ผู้ทำวิจัยสมุนไพรพลูคาว เผยว่า ช่วงที่ผ่านมา นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รับการติดต่อจากจีนและอีก 20 สถาบันจากทั่วโลกที่มีงานวิจัยเรื่องสรรพคุณของพลูคาว นำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยในหลายประเทศแล้วปรากฏว่าใช้ได้ผลดี

...

ก่อนจะแนะนำให้ผู้ป่วยและยังไม่ป่วยจากโรคโควิด-19 ในบ้านเราได้ทดลองใช้กัน...ทั้งในแบบให้กินเป็นผักสด อบแห้งบดเป็นผงชงเป็นชา รวมทั้งทำเป็นผงบรรจุแคปซูล สำหรับผู้ป่วยอาการหนักนอนเตียง

“เนื่องจากปัจจุบัน โควิด-19 ยังไม่มียารักษาโดยตรง การรักษาจึงทำได้เพียงรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อฆ่าเชื้อ ได้ผลดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะรายงานตัวเลขผู้มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและเบาหวานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กรม การแพทย์แผนไทยฯจึงนำพลูคาวมาใช้รักษาผู้ป่วยเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวาน เพราะสามารถใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบันได้ดีกว่าสมุนไพรตัวอื่น รวมทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสไปพร้อมๆกัน”

นายอุดม ให้ความรู้เรื่องพลูคาว ที่ภาคเหนือเรียก ผักคาวตอง...เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 15-30 ซม. ลำต้นกลม สีเขียว รากแตกออกตามข้อ มีกลิ่นคาวทั้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 6-10 ซม. ปลายใบ เรียวแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเรียบ สีเขียว ด้านบนของใบเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างออกสีม่วง พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย แถบเทือกเขาหิมาลัย เวียดนาม ญี่ปุ่น และประเทศไทย รู้จักกันดีทางภาคเหนือ

ส่วนวิธีการปลูก สามารถ ปลูกได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิ 16-26 ํC มักขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามริมห้วย ลำธาร พื้นที่ชื้นแฉะ หากนำมาปลูกในบริเวณบ้าน ควรเลือกปลูกตรงที่มีความชื้นข้างๆ อ่างน้ำ ใกล้ๆกับก๊อกน้ำ เพราะสะดวกต่อการรดน้ำ สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี กินเป็นใบสด นำไปผัด แปรรูปแบบแห้งชงเป็นน้ำชาดื่ม หรือจะทำเป็นบรรจุแคปซูลได้ทั้งนั้น.

ไชยรัตน์ ส้มฉุน