หลายคนสงสัยเกี่ยวกับกวางชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกต่างกัน...ละอง กับ ละมั่ง

น.สพ.เกษตร สุเตชะ จากโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายให้ความรู้ สัตว์สองชื่อต่างกันนี้เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน...ละอง คือละมั่งตัวผู้ มีเขาโค้งยาวไปด้านหลัง แล้วตีวงม้วนมาด้านหน้า เขาบางตัวอาจยาวถึง 2 เมตร มีกิ่งสั้นๆที่ปลายเขา 12 กิ่ง บางตัวอาจมีถึง 20 กิ่ง ผลัดเขาปีละครั้ง

ส่วน ละมั่ง เป็นตัวเมีย ขนาดเล็กกว่า ไม่มีเขา

แต่บางครั้งชาวบ้านมักเรียกเหมารวมทั้งสองเพศว่า...ละมั่ง

เป็นกวางขนาดกลาง เล็กกว่ากวางป่า ใกล้เคียงกับกวางบาราซิงกา เพราะมีสายเลือดใกล้ชิดกัน เป็นกวางที่รูปร่างสวยงามมาก ความสูงระดับหัวไหล่ 110 ซม. ความยาวหัวถึงลำตัว 150-180 ซม. หนัก 150 กก. หางยาว 20-30 ซม. ไม่มีวงก้น คอค่อนข้างเรียว ขนกลางสันหลังสีดำ ฤดูร้อนขนมีสีน้ำตาลแดง ฤดูหนาวสีจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเข้ม ละองค่อนข้างสีเข้มกว่าละมั่งเล็กน้อย มีขนหยาบที่คอ

มีอยู่ด้วยกัน 3 พันธุ์...1.พันธุ์อินเดีย หรือพันธุ์อัสสัม หรือพันธุ์มานิเปอร์ (C. e. eldii) พบได้ในจังหวัดมานิเปอร์ของอินเดีย...2.พันธุ์พม่า (C.e.thamin) พบในประเทศพม่า ตัวใหญ่กว่าพันธุ์อินเดีย

3.พันธุ์ไทย (C.e.siamensis) พบในประเทศไทยและจีน เป็นพันธุ์ที่มีเขาแตกกิ่งมากที่สุด

ฝูงละองมักจะเข้ามารวมกับฝูงละมั่ง แต่จะต่อสู้กันเพื่อแย่งสิทธิ์ในการผสมพันธุ์ และครอบครองฝูงตัวเมีย ละมั่งตั้งท้องนานราว 220-240 วัน ออกลูกครั้งละตัว ลูกแรกเกิดมีลายจุดทั่วตัว เมื่อโตขึ้นจุดบนลำตัวค่อยจางไป หย่านมเมื่ออายุได้ 7 เดือน เมื่ออายุ 18 เดือนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ อายุขัยราว 10 ปี

...

ปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์ ทั่วโลกมีละมั่งพันธุ์ไทยไม่เกิน 30-40 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในสวนสัตว์ ปัจจุบันนักวิจัยขององค์การสวนสัตว์ฯได้ผลิตตัวอ่อนละมั่งพันธุ์พม่าหลอดแก้วได้สำเร็จเป็นตัวแรกของโลก และจะขยายพันธุ์ละมั่งพันธุ์ไทยปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป.