ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา-19 (โควิด-19) ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และยากที่จะคาดเดาว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด กำลังสำคัญที่ช่วยยับยั้งและเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับภัยครั้งนี้ คือ บุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นโล่กำบังและปกป้องแนวหน้าของเราในการต่อสู้ครั้งนี้ จึงมีความสำคัญยิ่ง จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อตัวร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน และอื่น ๆ เพื่อเสริมให้ด่านหน้าของเรามีความแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ
นั่นคือที่มาของเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ และกล่องทำหัตถการแรงดันลบ ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ รวมทั้งพันธมิตรคือ บริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด โดยได้นำต้นแบบ (Prototype) เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบที่สร้างขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และนำมาต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น โดยใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมมาพัฒนาให้สามารถทำงานได้ถึง 3 หน้าที่ในเครื่องเดียว คือ สร้างแรงดันลบ กรองอนุภาค และฆ่าเชื้อโรค โดยหลักการทำงานก็คือ ด้านบนของเตียงมีลักษณะเป็นแคปซูล ส่วนด้านล่างจะมีกล่องเครื่องกำเนิดแรงดันลบซึ่งปรับความดันอากาศที่ดูดเข้าไปภายในแคปซูลให้ต่ำกว่าอากาศภายนอก 5 - 10 ปาสกาล เมื่อความดันภายในเป็นลบ อากาศจึงไม่ไหลออกสู่ภายนอกที่มีความดันสูงกว่า จึงช่วยไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกภายนอก ตัวเครื่องติดตั้งแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (HEPA Filter) ที่สามารถกรองอนุภาค ระดับ 0.3 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ 100 เท่า ได้ถึง 99.99% และหลอดไฟแสงอัลตราไวโอเลตซี (UV-C) ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค จึงทำให้อากาศที่ปล่อยกลับสู่ภายนอกนั้น มีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์เมื่อต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ โดยเครื่องดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบจากบุคลากรทางการแพทย์ผู้ใช้งานจริง และพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ปตท.สผ.และบริษัทพันธมิตร ยังได้พัฒนาเครื่องกำเนิดแรงดันลบแบบเคลื่อนที่ขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งด้วยหลักการเดียวกัน ซึ่งเมื่อนำไปติดตั้งร่วมกับกล่องทำหัตถการ จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อเป็นไปอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สะดวกต่อการใช้งานและเคลื่อนย้าย
ตัวเครื่องกำเนิดแรงดันลบ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 6-7 ชม. ด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ และยังสามารถใช้งานด้วยระบบไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกล และที่สำคัญคือ ช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบจากต่างประเทศ มีราคาสูงถึง 400,000 – 600,000 บาท โรงพยาบาลไทยจำนวนมากจึงขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นนี้ และในสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ต้องใช้เวลานานในการสั่งซื้อและนำเข้ามาในประเทศ แต่ด้วยนวัตกรรมฝีมือคนไทย ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ามาก และยังได้รับการออกแบบให้สามารถผลิตในจำนวนมาก (Mass production engineering) ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นประโยชน์กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ นอกจากนี้ เตียงดังกล่าวยังสามารถใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น วัณโรค จึงนับเป็นการเสริมความพร้อมของโรงพยาบาลไทยในการดูแลทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาวอีกด้วย
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ให้ความสำคัญต่อการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 และชื่นชมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่อุทิศตนในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่ง ปตท.สผ. และพันธมิตรของเราขอเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสซึ่งเป็นภารกิจอันยากลำบากของประเทศไทยและของโลกในขณะนี้ และบริษัทยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เราใช้ในการค้นหาพลังงานมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น การพัฒนาเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ และกล่องทำหัตถการแรงดันลบที่มีความพิเศษครั้งนี้ ที่จะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ให้สำเร็จ
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นการสู้รบในสงครามโควิด-19 ซึ่งถ้าเพลี่ยงพล้ำเมื่อไหร่ก็อาจเกิดปัญหาบุคลากรในระบบสาธารณสุขติดเชื้อ ทำให้กำลังในการรบครั้งนี้ของเราหายไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่เกิดขึ้นในหลายโรงพยาบาลในภูมิภาค อุปกรณ์เหล่านี้จึงมีความสำคัญและจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับโรงพยาบาล ขอขอบคุณ ปตท.สผ. บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส และ บริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี ที่พัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ
ล่าสุด ปตท.สผ. ร่วมกับพันธมิตร ได้ผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดแรงดันลบนี้ จำนวน 100 เตียง และกล่องทำหัตถการที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดแรงดันลบ จำนวน 90 ชุด รวมมูลค่า 14,500,000 บาท โดยส่งมอบให้กับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อใช้งานและจัดสรรให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศที่ขาดแคลน และอีกส่วนหนึ่งจะมอบให้โรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท.สผ.
นับเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์วิกฤติ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของแนวหลังที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนความแข็งแกร่งให้กับแนวหน้า เพื่อให้สามารถฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยมีความปลอดภัยของคนไทยเป็นเป้าหมายสูงสุด