คอกม้าโคราชผวา กาฬโรคแอฟริกา ทำม้าตายแล้วกว่า 100 ตัว ปศุสัตว์วางมาตรการเข้ม ยืนยันเป็นโรคอุบัติใหม่ ม้าติดเชื้อ ป่วย แล้วตายทุกตัว ไม่ติดต่อสู่คน
บ่ายวันที่ 3 เม.ย. นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอปากช่องรายงานเพิ่มเติมว่ามีม้าตายเพิ่มอีก 2 ตัว รวมจำนวนม้าตายแล้วมากถึง 117 ตัว เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ฟาร์มม้าจำนวน 20 แห่ง ในเขต ต.ขนงพระ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งชื่อดังของประเทศไทย
สำหรับจังหวัดนครราชสีมามีฟาร์มม้าทั้งสิ้น 110 แห่ง จำนวนม้า 1,455 ตัว แยกเป็น อ.ปากช่อง มี 44 ฟาร์ม ม้า 1,002 ตัว อ.เมือง 44 ฟาร์ม ม้า 368 ตัว และอำเภออื่นๆ 22 ฟาร์ม ม้า 85 ตัว
สำหรับม้าที่ป่วยเป็นโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าทั้งหมดสุดท้ายจะล้มตายทุกตัว เฉลี่ยยอดตายประมาณ 8% ของประชากรม้าทั้งหมด ขณะนี้ได้ดำเนินมาตรการควบคุมแล้ว โดยกรทำบันทึกสั่งกักฟาร์มที่เป็นโรคและสอบสวนโรคพร้อมเก็บตัวอย่าง เจาะเลือดเพื่อยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ได้แนะนำให้ฟาร์มจัดระบบการป้องกันโรคแพร่กระจายทั้งในและนอกฟาร์ม ซึ่งมีหลักการดำเนินการเหมือนการดำเนินการกับการระบาดโรคในมนุษย์ คือไม่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ และให้ป้องกันตัวริ้น ยุง ฯลฯ พาหะดูดเลือดโดยติดตั้งมุ้งในคอกม้า การเลี้ยงหากมีม้าป่วยให้แยกออกทันที และแยกคนเลี้ยง อุปกรณ์ต่างๆ ห้ามใช้ร่วมกัน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ต้องใช้คนละฟาร์มทั้งเจาะเลือดและพ่นฆ่าเชื้อยานพาหนะเข้าออกในฟาร์ม เมื่อสัมผัสม้าให้สวมถุงมือและล้างมือภายหลังเสร็จภารกิจ
...
นายพศวีร์ กล่าวว่า ยืนยันเป็นโรคอุบัติใหม่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และไม่ติดต่อสู่มนุษย์และสัตว์อื่นๆ ได้ การเฝ้าระวังควบคุมโรคได้ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว
โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness, AHS) ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงสามารถติดต่อไปยังสัตว์ชนิดม้า ลา ล่อ และอูฐ ได้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ)โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ทุกหมู่บ้านทุกตำบลของอำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา เป็นเขตโรคระบาดสัตว์ ชั่วคราว ห้ามเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ และอูฐหรือซากสัตว์ดังกล่าวภายในเขตหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในหรือออกนอกเขตเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือคำสั่ง ต้องระวางโทษอย่างต่ำ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้ได้สนธิกำลังตั้งจุดตรวจหรือบล็อก 5 จุด ที่เป็นเส้นทางเข้าออกพื้นที่โรคระบาด