กรณีที่นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เรียกร้องไปยังนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด พม.พักหนี้ให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายคนตกงานนั้น

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. เปิดเผยว่า พอช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากมีประชาชนมีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยได้ใช้สินเชื่อจาก พอช.เพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ ที่ผ่านมา พอช.มีมาตรการการช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น ปรับงวดชำระคืนที่เหมาะสม ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้นานขึ้น โดยได้ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ปัจจุบันมีโครงการบ้านมั่นคงที่ใช้สินเชื่อจาก พอช. กระจายอยู่ทั่วประเทศ 480 กลุ่ม/องค์กร มีสมาชิกที่เป็นผู้มีรายได้น้อยประมาณ 50,000 ครัวเรือน อย่างไร ก็ตาม สมาชิกชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและมีอาชีพไม่แน่นอน ทำให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีมาตรการรัฐช่วยเหลือบรรเทา แต่ยังมีชุมชนอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึง พอช.จึงเห็นว่าควรมีมาตรการพิเศษช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยการพักชำระหนี้อย่างน้อย 3 เดือน และจะไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างการพักหนี้ให้กับลูกหนี้ในโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ ครอบคลุมสมาชิกทั้งหมดที่ประสบปัญหา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ พอช. คาดว่าจะมีผลในสัปดาห์หน้า ซึ่งเครือข่ายชุมชนโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนของสมาชิกที่อาจจะมีความเดือดร้อนแต่ละชุมชนไม่เท่ากัน เพื่อเสนอให้ พอช.พิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป

...

ผอ.พอช.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ พอช.ยังร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีในท้องถิ่น เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาสังคม เป็นต้น ร่วมกันจัดทำแผนงานต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 โดยเน้นพื้นที่ปฏิบัติการในระดับตำบลและชุมชน เพราะถือเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับวิกฤติในครั้งนี้ พอช.จะใช้กลไกต่างๆที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัดร่วมมือกับภาคีเครือข่ายลงไปทำงานในชุมชนระดับตำบลร่วมกับท้องถิ่น โดยมี 1.แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเป็นแผนเชิงรุก เพื่อป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ 2.แผนรับมือผลกระทบจากผู้ตกงานที่กลับคืนสู่ชุมชน รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งปีนี้ พอช.มีแผนการและงบประมาณที่จะดำเนินการได้เลยจำนวน 1,300 ตำบลทั่วประเทศ.