ในบรรดาสัตว์ป่าสงวนที่น่าสงสารและไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับใครๆ คือ เลียงผา หรือเยียงผา หรือโครำ เป็นสัตว์กีบคู่ วงศ์เดียวกับแพะ แกะ และเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capricornis หมายถึง สัตว์ที่มีเขาอย่างแพะแห่งเกาะสุมาตรา
มีรูปร่างคล้ายแพะ แต่รูปหน้ายาวกว่า ลำตัวสั้นแต่ขายาว ตัวเมียเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขายาวต่อเนื่องทุกปี อาจยาวสูงสุดได้ถึง 32 ซม. เส้นรอบวงโคนเขาประมาณ 15 ซม. ลักษณะกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกะโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวมีสีดำ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีสีขาวแซม ขนมีทั้งที่เป็นสีดำ และสีแดงขึ้นอยู่กับสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย
น.สพ.เกษตร สุเตชะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า คนส่วนใหญ่รู้จักผ่านทางชิ้นส่วนของเลียงผา ที่ถูกนำมาขายเป็นน้ำมันแก้ฟกช้ำ ก่อนที่จะไปเห็นตัวจริงๆในสวนสัตว์ เพราะในธรรมชาติหายาก เพราะใกล้สูญพันธุ์
ขณะที่หลายหน่วยงานกำลังช่วยกันเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ...แต่ด้วยเทือกเขาหินปูนส่วนใหญ่ในประเทศไทยถูกรัฐบาลให้สัมปทานกับบริษัทผลิตปูนซีเมนต์ไปหมด เหลือเพียงเทือกเขาสูงในป่าอนุรักษ์เท่านั้น ที่ยังพอให้เลียงผาได้พักพิง
แต่ยังมีชาวเขา คนหาของป่า พรานล่าสัตว์ เผาป่าหาเห็ด ที่ยังคอยรังควานเข่นฆ่าเลียงผาอยู่ร่ำไป
เลียงผาจึงเป็นสัตว์ที่มีชีวิตเศร้าและน่าสงสารมาก เมื่อถูกไล่ไปติดเกาะบนภูเขาสูง ครั้นยามที่อากาศหนาวหรือแล้งจัด มักจะลงจากเขาเพื่อมาหาอาหารจำพวกพืชผัก ผลไม้ และน้ำประทังชีวิต กลับมีคนใจร้ายไล่ฆ่าอยู่เสมอ เพราะความเชื่อผิดๆที่ว่า น้ำมันเลียงผาช่วยรักษาโรคปวดเมื่อย
...
ทั้งที่ไม่เคยมีเหตุผลหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ไหนมารองรับทั้งสิ้น.