ราชบัณฑิตชี้ “สึก” ต้องมีเจตนาเปล่งวาจา ถูกขัง-แต่งขาวไม่ใช่ประเด็น

ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แถลงข่าวเกี่ยวกับการสละสมณเพศของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ว่า เป็นการทำให้สังคมเข้าใจว่าการแถลงข่าวดังกล่าวเป็นมติของมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อให้สังคมเข้าใจว่า พระสงฆ์ที่ถูกคุมขังขาดจากความเป็นพระแล้ว ตามผลของกฎหมายมาตรา 29 และ 30 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยการ แถลงข่าวดังกล่าวเป็นการใส่ความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไปในข้อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักการเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง เพราะการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ตามมาตรา 29 นั้น ต้องจัดการให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย โดยต้องมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าผู้รู้ความ ตามแนวของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6782/2543 ซึ่งจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ยืนยันได้ว่า ถ้าไม่ได้จัดการลาสิกขาตามขั้นตอนพระธรรมวินัย โดยมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขาถือได้ว่า ไม่เป็นการสละสมณเพศ

ศ.พิเศษ จำนงค์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังพบว่ากรณีของพระสงฆ์วัดสระเกศกับวัด สามพระยาที่ถูกคุมขังก่อนได้รับการประกันตัวนั้น ไม่ได้มีการเปล่งวาจาลาสิกขาตามขั้นตอนพระธรรมวินัย และในวันที่ต้องถูกคุมขัง ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้มีพระสงฆ์รูปใด จากวัดใด มาดำเนินการสละสมณเพศ ทั้งไม่ปรากฏพยาน เอกสาร และพยานบุคคล และไม่ปรากฏบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของพระภิกษุรูปที่มาดำเนินการให้สละสมณเพศ ที่จะต้องลงความเห็นว่าท่านได้ลาสิกขาไปแล้ว ส่วนการถูกคุมขังและการใส่ชุดขาวนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมากล่าวอ้างว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระไปแล้ว เพราะสาระสำคัญของความเป็นพระภิกษุจะสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การถูกคุมขัง แต่อยู่ที่ข้อวัตรปฏิบัติของความเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัย การที่ต้องใส่ชุดขาวก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำ ไม่ได้ทำให้ความเป็นพระภิกษุหมดไป เช่น เวลาพระสงฆ์อาพาธต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้องถอดจีวรเพื่อใส่ชุดตามระเบียบของโรงพยาบาล นอกจากนี้โฆษกพศ.ยังได้อ้างถึงมาตรา 28 ที่ระบุ ว่า พระภิกษุรูปใดก็ตามที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคล ล้มละลาย ต้องสึกภายใน 3 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น ซึ่งถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องคดีที่เกิดกับวัดสระเกศ และวัดสามพระยา ดังนั้นจึงไม่ควรนำมากล่าวอ้าง เพราะจะเป็นการชี้นำให้สังคมเกิดความสับสนได้.

...