ผลงาน มอ. ครั้งแรกของโลก แก้ฟันผุ-ปัญหาสุขภาพในช่องปากคนไทย
เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย น.ส.ทิพวัลย์ เวชการัณย์ ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมผลงานการสนับสนุนผู้ประกอบการ สอว.เรื่อง “โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่ (Probiotic)” กับทางเลือกใหม่ในการป้องกันฟันผุ ซึ่งพัฒนาโดย ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล และทีมนักวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)
ศ.ดร.ศุภชัยเปิดเผยว่า ปัจจุบันฟันผุเป็นปัญหาสุขภาพในช่องปากของคนไทย ซึ่งพบได้บ่อยในทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี มีจำนวนประมาณ 4.2 ล้านคน มีอาการฟันผุประมาณ 3.6 ล้านคน ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากโพรไบโอติกแลคโตแบซิลลัสเพื่อใช้ในการป้องกันฟันผุ ซึ่งโพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ขนาดเล็ก จัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี โดยโพรไบโอติกจะทำหน้าที่ในการสร้างสมดุลและควบคุมเชื้อก่อโรค ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของวงการทันตแพทย์ไทย เมื่อ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล และทีมนักวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ โพรไบโอติกแลคโตแบซิลลัล พาราเคเซอิ เอสดีหนึ่ง (Lactobacillus Paracasei SD1) และแลคโตแบซิลลัล แรมโนซัส เอสดีสิบเอ็ด (Lactobacillus Rhamnosus SD 11) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีแหล่งมาจากช่องปากของคนสุขภาพดี เพื่อมาใช้เสริมสุขภาพในช่องปากคนไทยโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ได้นำมาศึกษาการป้องกันโรคฟันผุในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบว่ามีการลดลงของเชื้อฟันผุและลดการเกิดฟันผุในเด็กเล็ก ผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ทางวิชาการและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จึงเป็นต้นแบบในการใช้โพรไบโอติกในการป้องกันฟันผุในเด็ก
...
ด้าน ศ.ดร.รวี เถียรไพศาลกล่าวว่า โพรไบโอติกสามารถใช้ประโยชน์ได้ในคนทุกช่วงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาฟันผุที่ผิวรากฟันจากปัญหาเหงือกร่นด้วย ดังนั้นการนำโพรไบโอติกไปพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆนับเป็นทางเลือกที่ดีและง่ายต่อผู้บริโภคในการยับยั้งและป้องกันฟันผุ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาวะในช่องปากและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารหวาน จึงจะช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุในประชากรไทยได้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น.