เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ คนไทยมีศักยภาพเป็นเจ้าของได้ แต่ยังไม่กล้าพึ่งเครื่องมือทุ่นแรง เพราะไม่เข้าใจ ไม่เคยชินนวัตกรรม ตามเทคโนโลยีไม่ทัน ใช้งานไม่เป็น
เพื่อให้ภาคเกษตรไทยมีต้นทุนไม่สูง ได้ผลผลิตคุณภาพมีความคุ้มทุนเหมือนหลายๆประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น ทีมวิจัยคูโบต้าพัฒนาแอปพลิเคชันทำนาปลูกข้าวด้วยความแม่นยำ
...
ด้วยวิธีการทำนาดำใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 10 กก. จากที่เคยใช้เมล็ดพันธุ์ 30 กก.ต่อไร่...ปลูกข้าว กข 43 ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 589 กก. ในขณะที่งานวิจัยของกรมการข้าวได้ผลผลิตไร่ละ 521 กก.
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้ความรู้ถึงวิธีการปลูกข้าวแม่นยำ...จะใช้การเพาะกล้าเมล็ดในถาดเพาะชำ เมื่ออายุกล้าถึงเวลาปลูก จะใช้รถดำนาซึ่งควบคุมด้วยแอปพลิเคชัน ทำให้การปลูกกล้าข้าวเรียงแถวเป็นระเบียบ ข้าวกอใหญ่เจริญเติบโตสม่ำเสมอ
แอปฯปลูกข้าวจะมีการบันทึกวันปลูก อายุข้าว ตรวจนับจำนวนต้นข้าวต่อพื้นที่ ความสูง ความยาวใบแจ้งช่วงเวลา การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม...แทนการคาดคะเนตามวัฒนธรรมความเคยชิน ที่ส่งต่อกันมานานในสังคมบ้านเรา
“ทำนาจะใช้วิธีการเดิมๆ หรือเอาประสบการณ์มาเป็นครูเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เห็นได้ชัดว่าช่วยเกษตรกรไทยทำเกษตรอย่างแม่นยำและใกล้ตัวมากขึ้น คือเทคโนโลยี IoT และ Robot ระบบโปรแกรมที่ใช้กับโดรนฉีดพ่นปุ๋ยเคมี ป้องกันกำจัดแมลง ขณะทำงานหากสารเคมีหมด โดรนจะบันทึกจุดพิกัด หลังเติมวัตถุดิบโดรนจะกลับมาทำงานต่อจากจุดเดิมได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ไม่เปลืองวัตถุดิบและแรงงาน”
ส่วนเทคนิคการให้ปุ๋ยในเวลาที่เหมาะสม จะใช้เครื่องวัดสีคลอโรฟิลล์มิเตอร์มาตรวจวัด...ด้วยการใช้มือรูดใบข้าว จากล่างขึ้นมา แล้วนับยอดใบที่สูงสุด เรียงลงมา 1–2–3 จากนั้นใช้เครื่องวัดฯ คีบปลายใบข้าวที่ 3 หากค่าตัวเลขขึ้นหน้าจอต่ำกว่า 30 นั่นแสดงว่าปุ๋ยในดินหมด ถึงเวลาให้ปุ๋ยแล้ว
วิธีการนี้จะช่วยให้ข้าวดึงปุ๋ยไปใช้ตรงตามความต้องการ จะต่างจากวิธีเดิมที่เจ้าของแปลงมักใส่ปุ๋ยตามการคาดคะเน ทำให้ต้นข้าวสูง มีใบมากกว่ารวงข้าว ใกล้เก็บเกี่ยวข้าวล้มง่าย
...
การจัดการแปลงนาด้วยแอปพลิเคชัน สามารถดูข้อมูลย้อนหลัง อัตราการเติบโต การใส่ปุ๋ย เพื่อนำมาวิเคราะห์ ปรับปรุงในฤดูกาลถัดไป ทุกอย่างมีให้ดูที่ศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ที่แม่นยำโดยใช้เทคโนโลยี (KU BOTA Farm) ใน ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
เกษตรกรสามารถเรียนรู้ทดลองปฏิบัติจริงทั้งการปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง พืชผักอายุสั้น เกษตรผสมผสาน การจัดการแหล่งน้ำสำรอง เป็นการนำเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น มาพัฒนาให้เหมาะกับการทำเกษตรเมืองไทย สนใจติดต่อได้ที่ 09-0974-0073.
เพ็ญพิชญา เตียว