นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี สปสช.ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจึงต้องทำงานเชิงรุก ด้วยการจัดสรรงบประมาณทั้งในส่วนของการส่งเสริมป้องกันโรคและการรักษา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในปีงบ 2563 มีการจัดสรรงบไว้ 9,405 ล้านบาทโดย สปสช.ตั้งเป้าว่าจะให้การดูแลผู้ป่วยได้ 61,948 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 31,047 ราย การฟอกเลือด 28,546 ราย การผ่าตัดเปลี่ยนไต 172 ราย และผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันอีก 2,183 ราย ขณะที่ในปี 2562 สปสช.ได้ให้การดูแลผู้ป่วย 59,830 ราย
นพ.รัฐพลกล่าวต่อว่า ทั้งนี้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง สปสช.จึงได้จัดสรรงบสำหรับส่งเสริมป้องกันโรคและตรวจคัดกรองโรคกลุ่มนี้ให้แก่คนไทยทุกสิทธิ รวม 66 ล้านรายเพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ และสนับสนุนให้จัดตั้งคลินิกเฉพาะในโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทองได้รับการรักษาด้วยวิธี ล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลดภาระงานลง และช่วยลดความแออัดของหน่วยบริการด้วย.