18 มี.ค.วันครบ “60 ปีท่องเที่ยวไทย” คงไม่มีทัวริสต์ จากทั่วโลกมาร่วมเซเลเบรต ให้ตัวเลขโต 40.78 ล้านคน กับรายได้ 2.03 ล้านล้านบาท ตามแผนปี 2563?

เพราะถูกพิษไวรัส “โควิด-19” จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เล่นงานก่อน 31 ธ.ค. จนนายสี จิ้นผิง ต้องชัตดาวน์คนจีนออกนอกประเทศ ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชาวโลก

บวกกับห้ามบริษัทนำเที่ยวจีนขายบริการช่วง ม.ค.- มี.ค. หรืออาจนานกว่านั้น ด้วยองค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งต้องค้นคว้าหาวัคซีนมารักษานานถึง 18 เดือน ขณะจีนยืนยัน 3 เดือนเอาอยู่

โมเมนต์นี้ตามที่รู้ๆกัน “จีน” เป็นตลาดท่องเที่ยวระดับบิ๊ก มีคนออกเที่ยวนอกประเทศปีที่แล้ว 166 ล้านคน ผลกระทบนี้ทำเอาชาติคู่ค้าจีนพากันล้มระเนระนาดตามทฤษฎีโดมิโน

นับรวมถึงไทย...ที่ยึดรายได้ท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลัก พัฒนาเศรษฐกิจประเทศคู่ส่งออก และเลือกฝากผีฝากไข้กับตลาดจีนตามสถิติปีที่แล้วมาเที่ยวไทย 11 ล้านคน จากต่างชาติ 39 ล้านคน

...

โดยไม่สนใจตลาดอื่นไว้เผื่อเหนียว ยาม “ตึ่งหนั่งเกี้ย” สะดุดขาตัวเองล้มลงเช่นวันนี้

กระนั้น...“ดวงชง” ท่องเที่ยวไทยปีนี้ ไม่ได้อุบัติเฉพาะกับตลาดจีน แต่ยังกระจายไปค่อนโลก 24 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ยุโรปมีอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ซึ่งล้วนเป็นตลาดสำคัญแนวหน้าไทยทั้งนั้น แต่กลับมีผู้ติดเชื้อใกล้หลัก 1 แสนคน ตายเฉียด 2 พันรายในเร็ววันนี้

แถมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า...สถิติดังกล่าวจะหยุดนิ่งวันใด?

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ผู้คนส่วนใหญ่ที่ถูกพิษโควิด-19 พ่นใส่ ชะลอการเดินทางเสี่ยงกับชีวิตตนเอง...ยิ่งรู้ด้วยว่า ณ วันนี้ ตัวเลขเมืองไทยมีผู้ติดเชื้อ 35 ราย ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำซ้ำบรรยากาศท่องเที่ยว

“ไทย...คือเมืองต้องห้าม” ไม่มีคำว่า “พลาด” พ่วงท้าย!

ผู้สันทัดกรณีคลุกคลีในแวดวงการท่องเที่ยวไทยทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชนมานานกว่า 50 ปี ฉายภาพให้ฟัง พร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงอันแผ่วเบาว่า “แล้วบัดดล...ทัวริสต์ต่างชาติก็หายวับไปจากแผ่นดินไทย สถานประกอบการจึงต้องพากันปิดตัวเอง ลอยแพแรงงานบริการไปตามยถากรรมนับล้านคนทั่วประเทศอย่างที่เห็นตามข่าวและไม่เป็นข่าว”

วิกฤตินี้...“กระทรวงสาธารณสุข” ได้ชื่อว่าคือหน่วยงานตั้งรับที่ยอดเยี่ยม

ทว่ามุมกลับกัน...ข่าวการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเมื่อ 31 ธ.ค. ปลายปีที่แล้ว แต่รัฐบาลเชียงกงเพิ่งจะคิดแก้ผลกระทบท่องเที่ยวในคราวประชุม ครม. วันที่ 4 ก.พ. แล้วได้มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่กำลังชีช้ำ โดยนำวิธีการเงินการคลังมาช่วยลดหย่อนกับขยายเวลาชำระภาษีประจำปีให้

พร้อมเตรียมงบฯสนับสนุนการต่อเติม หรือซ่อมแซมธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งส่งเสริมรัฐและเอกชนจัดประชุมสัมมนาในประเทศ จะได้ลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าจากที่จ่ายจริง

แนวคิดนี้ดูดี...แต่ถ้าถามว่า “ระยะยาว” รัฐฯมีแผนรองรับหลังสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อฟื้นฟูบรรยากาศท่องเที่ยวรึยัง? ตอบได้เลยว่า...ยังไม่มีอะไรให้จับต้องได้

องค์กรหลัก...คือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เคยโด่งดังเรื่องจะขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการ และจะนำเงินภาษีมาแจกทัวริสต์ต่างชาติ ได้ชิม ช็อป ใช้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ล่าสุดจัดอะเมซิ่งวิ่งมาราธอน ผ่ากลางกรุงพร้อมจุดพลุตอนตี 3 แค่นี้ก็ขำพออยู่แล้ว...

จึงอยากให้ดูยุทธการแก้วิกฤติโควิด-19 เมื่อ 13 ก.พ. ที่เชิญภาครัฐกับเอกชนมาประชุมเชิงปฏิบัติการ “เพื่อแก้ไขและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวยั่งยืน”

วันนั้น...หลักใหญ่เหมือนฉายหนังม้วนเก่าซ้ำ เรื่องมาตรการการเงินการคลังมาต่อยอดอีกครั้ง โดยไร้ซึ่งบทสรุปถึงการพัฒนาสินค้าแปลกใหม่ เพื่อเตรียมการรับกับตลาดที่จะกลับมา

...

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บทบาทแรกที่ซีอีโอแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อ 27 ม.ค. บอก 3 เดือนที่สี จิ้นผิง ชัตดาวน์ จีนจะหาย 1.89 ล้านคน เงินหล่นอีก 5 หมื่นล้านบาท

จากแผนปีนี้ซึ่งเขียนไว้ 40.78 ล้านคน ทำรายได้ 2.03 ล้านล้านบาท แต่เงินจะหล่นคนจะหดยังไง...ททท.ก็จะเสกให้ได้ปีนี้ 41.8 ล้านคน ทำเงิน 2.22 ล้านล้านบาท...เอากับพี่สิ!

จากนั้น...เหมือนรู้อนาคตถึงรีบกลับลำแก้ต่างเมื่อ 8 ก.พ. บอกได้ปรับลดตัวเลขต่างชาติลงเหลือ 36 ล้านคน ติดลบ 9.5% รายได้เหลือ 1.78 ล้านล้านบาท ติดลบ 3.4%...ไหมล่ะ!

ส่วนแผนฟื้นฟูไม่รู้นักการตลาดมืออาชีพจะเป่ามนตร์บทใดให้ทุกตลาดรับทราบ “ไทย” คือ “แดนปลอดโรค” และพร้อมสร้างแรงจูงใจ ด้วยการเสนอขายธุรกิจบริการด้วยราคาต่ำกว่าปกติ

มีอีเวนต์น่าสนใจเพื่อเพิ่มมูลค่าการมาเยือน...นี่เป็นเพียงสิ่งคาดหวังที่ยังไม่ปรากฏ

ด้านสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมฯ “ทีเซ็บ” ที่รัฐบาลหงายการ์ดสนับสนุนให้มีการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ แล้วสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า จากที่จ่ายจริง

จนวันนี้...ก็ยังไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นในกอไผ่ทีเซ็บ

มาที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวฯ “อพท.” ค่ายเดียวกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่หมั่นขยันใช้เงินหว่านพื้นที่ท่องเที่ยวประเภทชุมชนมาแล้วมากมาย

ยามบาดแผลท่องเที่ยวกำลังตกสะเก็ด ผู้ขายกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนหวังได้ อพท.มาช่วยกู้สถานการณ์ โดยชูโปรดักส์มหกรรมท่องเที่ยวชุมชนเป็นจุดขาย แต่ไม่มีการขานรับใดๆเกิดขึ้น

...

หนทางแห่งความสำเร็จในการคิดแก้มรสุมท่องเที่ยวดูช่างมืดมนจากบทบาทแต่ละหน่วยงานที่ต่างสำรวมอาการ “เฉื่อย” และปราศจากเอกภาพการบูรณาการงานร่วมกันอย่างน่าเสียดาย

สุดท้าย...โฟกัสที่ภาคเอกชนคนทำธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งตกผลึกเป็นองค์กรมุ้งเล็กมุ้งใหญ่เต็มไปหมด และนับวันจะทวีความเป็น “เหาฉลาม” เกาะติดภาครัฐที่ทิ้งเศษงบประมาณให้ แล้วยังมี “ที่นั่ง” ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือที่ปรึกษาคนในกระทรวงเป็นรางวัลให้อีกต่างหาก

คนอาชีพนี้จึงคิดแก้ “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” ตามสัญชาตญาณ “พ่อค้า” รีบขอรัฐฯสนับสนุนงบฯ 1 แสนล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่องหลังพิษโควิด-19

อนิจจา...น่าห่วงที่อนาคตท่องเที่ยวไทยถึงคราวติด “กับดัก” เพราะไร้เอกภาพจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยกันกู้วิกฤติอันใหญ่หลวงครั้งนี้ให้สำเร็จ...วังเวงสิ้นดี

ทั้งหมดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นดัชนีชี้วัดแรงเฉื่อย...“โควิด–19” หั่นเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี.