คดีฟ้องร้องระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ยืดเยื้อคาราคาซังมา 20 ปี ในที่สุดก็ได้ข้อยุติเสียที จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง โดยเฉพาะ กทพ.ประหยัดเงินไปได้มหาศาล ไม่ต้องไปจ่ายค่าชดเชยที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท ขณะที่เอกชนก็โล่งใจไม่ต้องไปบังคับคดีคอยตามทวงหนี้จากรัฐ
คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมวันอังคารที่ผ่านมาว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ระหว่างกทพ. กับ BEM เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาททั้ง 17 คดี โดยขยายสัญญาทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ทำให้สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A, B, C ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จะสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578
คุณวิษณุกล่าวว่า หลังจากนี้ กทพ. กับ BEM จะต้องเร่งถอนคดีพิพาทที่มีต่อกันให้เรียบร้อย คดีที่สิ้นสุดแล้วคือข้อพิพาททางแข่งขัน รวมเป็นเงิน 4,359 ล้านบาท ปัจจุบันมีคดีที่ กทพ.แพ้ทั้งหมด 3 คดี รวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีอีก 11 คดีที่ กทพ.แพ้ในชั้นไกล่เกลี่ยและอนุญาโตตุลาการ เตรียมเสนอสู่ชั้นศาล มีเพียง 1 คดีที่ กทพ.ชนะ คิดเป็นมูลหนี้ 491 ล้านบาท ซึ่งข้อพิพาททั้งหมดหากไม่ยุติ จะเกิดภาระดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จากการวิเคราะห์คดีสุดท้ายจะตัดสินในปี 2578 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายใด จะชนะ แต่มูลหนี้พิพาทจะเพิ่มไปถึง 3 แสนกว่าล้านบาท วันนี้จึงเป็นเวลาดีที่จะเจรจาทั้งหมดให้เซ็ตซีโร่
ผมสนับสนุนมาตลอดให้รัฐบาลเจรจายุติข้อพิพาท เพราะดูแนวโน้มแล้วขืนสู้คดีไปโอกาสชนะมีน้อยมาก ก็ต้องถือว่ากรณีนี้เป็นบทเรียนราคาแพง ที่จริงไม่ควรปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อขนาดนี้ เพราะดอกเบี้ยวิ่งทุกวัน ขืนลาก คดีไปอีก 15 ปี ดอกเบี้ยจะทบต้นไม่รู้กี่รอบ ยังดีที่ครั้งนี้เอกชนยอมลดต้นลดดอกให้ ไม่อย่างนั้นรัฐจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเป็นแสนล้านบาท
...
วันนี้เมื่อรัฐบาลเจรจากับเอกชนจบแล้ว ก็อย่าลืมมาดูแลแก้ปัญหาให้ประชาชนผู้ใช้ทางด่วนด้วย หลายปีแล้วที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลต้องเจอสภาพรถติดบนทางด่วน ไม่ใช่แค่วิกฤติชั่วโมงเร่งด่วน แต่รถติดตลอดทั้งวัน เพราะปริมาณรถมีมากกว่าพื้นผิวทางด่วน หนำซ้ำยังมีจุดตัดและคอขวดหลายจุด
เดิมทีการเจรจายุติข้อพิพาทมีข้อเสนอต่ออายุทางด่วน 15+15 ปี ซึ่งการขยายสัญญา 15 ปีแรกคือส่วนที่ ครม.มีมติเห็นชอบดังกล่าว ส่วน 15 ปีหลังนั้นมีเงื่อนไขให้ BEM ต้องควักเงิน 31,000 ล้านบาททำ ทางยกระดับขั้นที่ 2 (Double Deck) กับ สะพานบายพาส (Bypass Ramp) เพื่อเพิ่มพื้นผิวจราจรและแก้ปัญหาจุดตัดบนทางด่วน โดยที่ผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางเพิ่ม แต่เงื่อนไขส่วนนี้กระทรวงคมนาคมไม่ได้นำเสนอให้ ครม.พิจารณา
ทีนี้ลองเปรียบเทียบกับ แผนแม่บทการพัฒนาทางพิเศษระหว่างปี 2561–2580 ของ กทพ. มีการระบุถึง โครงการก่อสร้าง Double Deck เช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางขึ้นลง บริเวณคอขวด และแยกรถที่ต้องการเดินทางผ่านเมือง (Through Traffic) ให้สามารถเดินทางผ่านตลอด เป็นโครงการทางยกระดับ 4 ช่องจราจร (ฝั่งละ 2 ช่องจราจร) ซ้อนทับไปตามทางพิเศษศรีรัช แบ่งเป็น 2 ช่วงได้แก่ ช่วงงามวงศ์วาน–ทางแยกต่างระดับพญาไท–ถนนพระราม 9 และ ช่วงทางแยกต่างระดับพญาไท–ถนนจันทน์ มูลค่าลงทุน 47,053 ล้านบาท
ถ้าทำโครงการนี้ตามแผนแม่บท กทพ.จะต้องลงทุนเอง ซึ่งคนที่ใช้ทางด่วนคงต้องจ่ายเงินเพิ่ม
พิจารณาจากกายภาพของกรุงเทพฯตอนนี้ ถ้าจะแก้ปัญหารถติดหนึบบนทางด่วน คงหนีไม่พ้นการทำ Double Deck เหมาะสมที่สุด รัฐบาลจะเปิดประมูลเอาเจ้าไหนมาลงทุนก็ตามสบาย แต่ขอให้โปร่งใส และรีบเร่งดำเนินการให้เร็วด้วยเถอะ คนจ่ายค่าทางด่วนจะได้ขับรถวิ่งฉิว ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอีก.
ลมกรด