สัปดาห์ที่ผ่านมา นักศึกษาสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ 13 ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ “Chemical Smog ตัวการร้าย PM 2.5” ขึ้น โดยหวังเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ตีแผ่ให้เห็นถึงต้นตอของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ทำไมจึงเกิดขึ้นซ้ำๆ 3 เดือนแรกของปี และทำอย่างไรจึงจะยุติหรือทุเลาปัญหานี้ลงได้

วิทยากรที่มาร่วมงานมาจาก 3 สถาบัน ได้แก่ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ. ดร.ภิญโญ มีชำนะ รองศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายการ

เริ่มจาก ดร.สุรัตน์ ชี้ให้เห็นภาพว่า คนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่รับรู้ว่าฝุ่น PM 2.5 เกิดจากควันดำที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียของรถบรรทุก รถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง เป็นต้น แต่จากการที่เกษตรฯ ใช้เสา KU Tower เสาสูงแห่งเดียวในประเทศไทย เก็บตัวอย่างคุณภาพอากาศที่ระดับความสูงต่างๆ ตั้งแต่ 30 เมตร, 75 เมตร และ 110 เมตร ลงมาวิเคราะห์ พบว่ามีฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีในอากาศที่เรียกว่า “Photochemical Smog” เช่น ละอองสารไฮโดรคาร์บอน ไอระเหยของสารที่ใส่ในสเปรย์ เข้ามาเพิ่มเติมกับฝุ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ด้วย

ข้อมูลอากาศที่ตรวจพบ บ่งชี้ได้ว่าขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ photochemical smog ในประเทศไทยแล้ว เท่ากับว่าขณะนี้มีการผสมปนเปกันระหว่าง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาทางเคมี และ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งและการจราจร อันทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

...

ขณะที่ ดร.ภิญโญ เสริมว่า อากาศในกรุงเทพฯช่วงฤดูหนาว (เดือน ม.ค.-มี.ค.) คล้ายกับถูกฝาชีครอบ ซึ่งเกิดจากความผกผันของอุณหภูมิ หรือที่เรียกว่า temperature inversion ในสภาพปกติเมื่อเกิดการเผาไหม้ หรือสันดาปในบริเวณพื้นผิวโลก ทั้งควันและฝุ่นจะถูกยกตัวสูงขึ้นไปหาชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า และเมื่อลอยขึ้นไปถึงระดับหนึ่งก็จะถูกลมด้านบนพัดออกไป แต่ตอนนี้มีอากาศร้อนมากดทับคล้ายถูกครอบด้วยฝาชี อากาศจึงไม่ถ่ายเท

นอกจากนั้น ปัญหา PM 2.5 ยังไม่ได้มีสาเหตุมาจากรถดีเซลที่ปล่อยควันดำออกมาเท่านั้น แต่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซินที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ปล่อยควันขาวออกมา ก็มีส่วนทำให้เกิด PM 2.5 โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะที่มีการเติมน้ำมันออโตลูปเข้าไปผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จะเกิดควันสีขาวที่มีสารอินทรีย์ระเหย หรือ VOC (volatile organic compound) ในกลุ่มของไฮโดรคาร์บอนออกมา ซึ่งอาจไปทำปฏิกิริยากับโอโซนและเกิดเป็น PM 2.5 ได้ โดยพบว่ายิ่งสูงยิ่งมีปริมาณโอโซนเข้มข้น ฝุ่น PM 2.5 ก็จะเพิ่มขึ้นตามกันไปด้วย

โดยปริมาณโอโซนที่มีความเข้มข้นสูงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตรวจพบได้ จะอยู่ในระดับความสูงที่ 75–110 เมตร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมชั้นสูง

ทั้ง ดร.สุรัตน์ และ ดร.ภิญโญ ตั้งข้อสังเกตว่า รถมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้ถูกตรวจวัดปริมาณก๊าซที่ปล่อยออก ทั้งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งตรงนี้ต้องฝากไปยังกรมการขนส่งทางบก โดยแนวทางแก้ไขที่ทำได้เร็วที่สุดในเวลานี้ คือรักษาสภาพของเครื่องยนต์ให้มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อลดการปลดปล่อยไฮโดรคาร์บอน และ VOC

นอกจากนั้นต้องไม่ลืมว่า ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 เกิดจากหลายสาเหตุ การแก้ปัญหาต้องทำทุกอย่างไปพร้อมๆกัน ในต่างประเทศจึงไม่ได้ควบคุมหรือแก้ปัญหาที่การจราจรเพียงอย่างเดียว แต่ควบคุมสารระเหยที่ใส่เข้าไปในสเปรย์ด้วย

ขณะที่ ดร.ปริญญา กล่าวปิดท้ายว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรค 1 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้จะเป็นของตนเองก็ตาม จนน่าจะเป็นอันตรายแก่คนอื่นและทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท” โดยกฎหมายกำหนดโทษไว้รุนแรงมาก แค่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ว่ามีโทษของการเผาในที่โล่งแจ้งรุนแรง หากยังเผาอยู่ก็จัดการ นี่คือสิ่งที่ทำได้ทันที

“นอกจากนั้น ต้องสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควรควักเงินจ่ายให้กับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ควรเก็บภาษีเลย แต่นี่กลับไปปรับขึ้นอัตราภาษี จึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเกรงใจใครหรือเปล่า และต้องหามาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะมาเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ขณะที่การซื้อขายมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ ปัจจุบันไม่ต้องมีเงินดาวน์แค่มีบัตรประชาชนก็ขี่รถออกไปได้เลย เข้าใจว่าหากมีการบริโภครถยนต์ รถกระบะ และรถมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้น”

...

“อยากขอร้องรัฐบาลว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงบ้างก็ได้ เพราะตอนนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่น PM 2.5 และสนใจเรื่องนี้มากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลรู้หรือเปล่า”.

ศุภิกา ยิ้มละมัย