เยือนร้อยเอ็ดฉลองสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประสานสัมพันธ์ศิษย์เก่า OPEN HOUSE วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ได้ฟังตำนานบอกเล่าพื้นที่แถบนี้ 4 จังหวัดอีสานตอนเหนือ...เรียกรวมกันว่า ร้อยแก่นสารสินธุ์

มีดอกไม้ประจำถิ่นภาษาอีสานเรียกว่าดอกจาน ที่มีชื่อเรียกขานใหม่...ทองกวาว

มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกว่า กวาว, ก้าว (ภาคเหนือ) จอมทอง (ใต้) จ้า (เขมร-สุรินทร์) จาน (อุบลราชธานี) ทองธรรมชาติ, ทองพรมชาติ (ภาคกลาง) และทองต้น (ราชบุรี) พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าหญ้า ป่าละเมาะที่แห้งแล้ง พบมากทางภาคอีสานตอนเหนือ ภาคอื่นมีกระจัดกระจาย

เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร ใบประกอบมีใบย่อย 3 ใบ รูปไข่ค่อนข้างกว้าง โคนเบี้ยว เวลามีดอกใบจะร่วงหมดเหลือเพียงดอกน่าชมยิ่ง ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งก้านและปลายยอด กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปบาตรเล็กๆ มีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายดอกถั่ว สีเหลืองถึงสีแดงแสด มีเกสร 10 อัน คล้ายรูปเคียว

ดอกมีสีแดงอมส้มเจิดจ้าสวยงามทั้งยังดก และบานพร้อมกันทั้งต้นทำให้ดูสวยงามมาก

มีผลเป็นฝักแบน มีเพียงเมล็ดเดียว ดอกออกช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีสรรพคุณมากมาย แค่ดอกสีสดใสเบ่งบาน เห็นแล้วปลุกอารมณ์รักได้

...

ดอกนำมาตำเป็นน้ำใช้หยอดตา แก้ตาแดง เจ็บปวดตา ระคายเคือง มัว แฉะ และฟาง ยางของต้นผสมน้ำต้มกินช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องขึ้น ท้องอืด ฝักใบ หรือเมล็ดนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้เป็นยาขับพยาธิ

ปัจจุบันพ่อค้ามีการขุดต้นทำเป็นไม้ล้อมขายทั่วไป ทั้งต้นขนาดเล็กและขนาดสูงใหญ่ สนนราคาอยู่ที่ขนาดของต้น ตั้งแต่หลัก 1,000-10,000 บาทเลยทีเดียว.