สำหรับมหากาพย์คดีเงินค่า "โฆษณา อสมท" หรือ "คดีไร่ส้ม" นั้น เริ่มเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนในช่วงปี 2549 เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ตรวจพบว่า บ.ไร่ส้ม จก. ที่มี "นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา" อดีตนักเล่าข่าวชื่อดัง เป็นกรรมการผู้จัดการ, น.ส.อังคณา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ้ม เป็นกรรมการบริษัท เข้าทำสัญญาร่วมผลิตรายการกับ อสมท ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.2548 จนถึงวันที่ 15 ก.ค.2549 ร่วมผลิตรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-13.00 น. ครั้งละ 60 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดย อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บ.ไร่ส้มฯ ครั้งละ 5 นาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท อัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท และทำสัญญาร่วมผลิตรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 21.30-22.00 น. ครั้งละ 30 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดย อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บ.ไร่ส้มฯ ได้ครั้งละ 2 นาที 30 วินาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 240,000 บาท

ต่อมาพบว่า บ.ไร่ส้มฯ ค้างรายได้จากค่าโฆษณาเกินเวลาเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท โดยเมื่อ ก.ค.2549 "นางพิชชาภา หรือ ชนาภา เอี่ยมสะอาด หรือบุญโต" เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำคิวโฆษณารวม และเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลา เพื่อเรียกเก็บเงินจาก บ.ไร่ส้มฯ สารภาพต่อหน้าผู้บริหาร อสมท ในขณะนั้นว่า บ.ไร่ส้มฯ โฆษณาเกิน และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง โดย นางพิชชาภา ใช้ "น้ำยาลบคำผิด" ลบเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของ บ.ไร่ส้มฯ ในใบคิวโฆษณารวมของ อสมท เพื่อปกปิดความผิดตามคำแนะนำของ นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บ.ไร่ส้มฯ ก่อนจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้ 

...

จากนั้นวันที่ 20 ต.ค.2549 บ.ไร่ส้มฯ ยอมชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท 138 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงินกว่า 152 ล้านบาท แต่ อสมท ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการทั้งสองชุดพบการกระทำผิดจริง และผลจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. พบว่า นางพิชชาภา ให้ความช่วยเหลือ บ.ไร่ส้มฯ โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2548 - 30 มิ.ย.2549 นอกจากนี้ ยังพบว่า นายสรยุทธ ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 รวม 6 ครั้ง เป็นเงินเกือบ 7 แสนบาท เพื่อตอบแทนที่ นางพิชชาภา ไม่ได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ จากกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.นำไปสู่มติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2555 ชี้มูลความผิด นางพิชชาภา มีความผิดทางวินัยร้ายแรงและมีมูลความผิดทางอาญา ขณะที่ นายสรยุทธ ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการ บ.ไร่ส้มฯ และ น.ส.มณฑา เจ้าหน้าที่ บ.ไร่ส้มฯ มีมูลความผิดทางอาญา ฐาน "สนับสนุนพนักงานกระทำความผิด"

ทั้งนี้ขอยกข้อมูลส่วนหนึ่งจาก "สำนักข่าวอิศรา" ที่ระบุว่า ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ปรากฏว่า มีภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนต่อ นายสรยุทธ จำนวนมาก ขณะที่คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธานในขณะนั้น เดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ส่วน นายสรยุทธ ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับกับกระแสสังคม แต่ชี้แจงผ่านรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 น้อมรับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. แต่ต้องการไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาล หลังจากนั้นวันที่ 31 ต.ค.2555 นายสรยุทธ ได้ส่งหนังสือขอปฏิเสธการเดินทางมาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมาธิการ อ้างว่าเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงจำเป็นต้องสงวนข้อมูลข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี พร้อมชี้แจงต่อกระแสทวงถามด้านจริยธรรมว่า "คดีความที่เกิดขึ้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของบริษัทและไม่มีส่วนกระทบใดๆ ต่อการทำรายการของผม ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ต่อสังคม โดยไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันเป็นจรรยาบรรณสำคัญ ในการนำเสนอที่ผมยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน" 

...

นอกจากนี้ นายสรยุทธ ยังใช้สิทธิยื่นฟ้องศาลปกครอง เรียกร้องเงินกรณีค่าโฆษณาส่วนเกิน และไม่ให้ส่วนลดทางการค้า 30 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อสัญญาจาก อสมท รวมเป็นเงินกว่า 55 ล้านบาทด้วย อย่างไรก็ดีเมื่อกลางเดือน ก.ค.2558 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ว่า อสมท ไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณา 55 ล้านบาท คืนให้กับ บ.ไร่ส้มฯ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทเคยทำหนังสือขอส่วนลดค่าโฆษณากับ อสมท เพียงครั้งเดียวในปี 2548 ส่วนการที่ อสมท ขายโฆษณาเกินเวลานั้น ถือว่า บ.ไร่ส้มฯ ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะ อสมท ใช้เวลาของทางช่องเอง ที่ผ่านมามีการโฆษณาเกินเวลามาโดยตลอด และบริษัทฯ ไม่ได้ทำหนังสือขอส่วนลดให้ถูกต้อง ดังนั้นการที่ชำระค่าโฆษณา โดยไม่ได้รับส่วนลดทางการค้า 30 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าถูกต้องแล้ว 

ส่วนคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดและส่งสำนวนการไต่สวนให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา ปรากฏว่าอัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนคดีนี้ยังไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น ขณะที่ นายสรยุทธ ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดด้วย ทำให้คณะทำงานทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ เนื่องจาก ป.ป.ช.เห็นว่าสำนวนการไต่สวนคดีนี้มีความสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นมีการประชุมคณะทำงานร่วมฯ ทั้งสองฝ่าย เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ ยืดเยื้อยาวนานกว่าปีเศษ ต่อมาในปี 2557 จึงเรียกพนักงาน อสมท มาสอบเพิ่ม 3 คน กระทั่งประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2557 มี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานอนุฯไต่สวนคดี เห็นว่าที่ประชุมได้ข้อยุติเห็นควรให้อัยการสูงสุด "ฟ้องคดี" 

...

กระทั่งเมื่อเดือน ม.ค.2558 อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งฟ้อง นางพิชชาภา นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2502 ม.6 ม.8 และ ม.11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.86 และ ม.91 สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การฯ ม.6 ฐานพนักงานเรียกรับสินบน ระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท ม.8 ฐานเป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท และ ม.11 ฐานพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หาก นางพิชชาภา กระทำผิด ศาลก็จะใช้ดุลพินิจลงโทษตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วน นายสรยุทธ น.ส.มณฑา และ บ.ไร่ส้ม เมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบว่ากระทำผิดจริง ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของอัตราโทษข้างต้น ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำความผิด

โดย "ศาลชั้นต้น" ได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2559 ว่า นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ มาตรา 6, 8, 11 ส่วน บจก.ไร่ส้มฯ นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท รวม 6 กระทง ให้จำคุก นางพิชชาภา 6 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ส่วน นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุก 6 กระทง กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี และปรับ บจก.ไร่ส้มฯ ทั้งสิ้น 120,000 บาท ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงให้จำคุก นางพิชชาภา 20 ปี ส่วน นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ให้จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ให้ปรับรวมเป็นเงิน 80,000 บาท ส่วนชั้นอุทธรณ์นั้น ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดประกันตัว ตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน

...

ต่อมาวันที่ 29 ส.ค.2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษา "ศาลอุทธรณ์" โดยพิพากษายืนจำคุกจำเลยทั้งหมดตามศาลชั้นต้น หลังมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว นายสรยุทธกับพวกได้ยื่นประกันตัวทันที โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาท โดยศาลอาญาทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา และในวันดังกล่าวนั้นเอง ศาลฎีกามีคำสั่งลงมาทันทีในช่วงเย็นว่า "ไม่อนุญาตให้ประกันตัว" จึงทำให้ นายสรยุทธ กับจำเลยร่วมทั้งหมด ต้องถูกคุมตัวไปขังยังเรือนจำ ต่อมาจำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวระหว่างยื่นฎีกาคนละ 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2560 พร้อมศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต และต้องมารายงานตัวกับศาลทุก 3 เดือน

จากนี้ไปเหลือเวลาไม่กี่อึดใจ ที่ นายสรยุทธ และจำเลยร่วมทั้งหมดในคดีดังกล่าว จะได้ลุ้นแล้วว่า กระบวนการพิจารณาของ "ศาลฎีกา" ในข้อต่อสู้ของจำเลย จะออกมาอย่างไร..."อีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง รู้กัน" ???