“ประวิตร” สั่งขับเคลื่อนกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ย้ำชาวนาอย่าปลูกข้าวนาปรัง เพราะใช้น้ำมากเกิน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเผยปี 2563 คาดปริมาณฝนตกน้อยในรอบ 41 ปี ปัจจุบันภาคกลางน้ำไม่เพียงพอ ปล่อยจากเขื่อนหลักลงมาช่วยทางลุ่มเจ้าพระยา ถูกชาวนาลักลอบสูบหมด ขนาดกราบขอแล้วยังแก้ไขไม่ได้ หวั่นไม่เหลือน้ำอุปโภคบริโภค ชี้สถานการณ์ตอนนี้อยู่ระดับ 2 หากขึ้นไประดับ 3 ที่ วิกฤติ นายกฯลงมาคุมเอง ใครยังลักลอบอีก มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทำเอาน้ำในแม่น้ำลำคลองและทะเลสาบแห้งขอดกลายเป็นที่เลี้ยงสัตว์

รัฐบาลเตรียมรับมือภัยแล้งปีนี้ที่คาดว่ารุนแรง ทั้งนี้ ที่ห้องประชุมน้ำปิง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อเช้าวันที่ 10 ม.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเตรียมเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำเข้าร่วมและรับฟังนโยบายการขับเคลื่อนการทำงาน ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ร่วมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรได้สั่งกำชับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องติดตามสถานการณ์สภาพปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด มีมาตรการแก้ไขปัญหาชัดเจน รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด

พล.อ.ประวิตร กล่าวหลังการประชุมว่า ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยแล้ง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ตอนนี้ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด อย่าไปมุ่งปลูกข้าวนาปรังเพราะเป็นพืชใช้น้ำมาก ให้เลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อย และต้องเตรียมการรับฝนปีนี้ ที่จะมีน้อยกว่าทุกปี เตรียมขุดบ่อบาดาล แก้มลิง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในปีต่อไป เพราะประเทศเราได้น้ำมาจากน้ำฝน ให้ทุกหน่วยงานเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น จะได้ช่วยเหลือประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคได้เพียงพอ เพราะรัฐบาลให้เงินมาขุดบ่อบาดาลกว่า 500 บ่อ นายกฯมีความห่วงใยเรื่องการใช้น้ำอย่างมาก ฝากสื่อมวลชนให้บอกประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรมไปตลอดแล้งนี้ และในช่วงฤดูฝนถัดไป

...

ด้านนายสมเกียรติ กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค. เห็นชอบกรอบโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยการ บูรณาการ ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ในการควบคุมวิกฤติน้ำในภาวะรุนแรงหรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง ในระดับ 2 โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้อยู่ในวงจำกัด ให้หน่วยงานด้านปฏิบัติในพื้นที่ ทำการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น มาปฏิบัติงานร่วมกัน โดยใช้ห้องประชุมชั้น 4 อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ หากมีเกณฑ์เสี่ยงที่คาดว่าจะเข้าขั้นวิกฤติ ต้องพิจารณาเสนอการกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง หรือระดับความรุนแรง สถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ ในระดับ 3 ที่ให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศตามมาตรา 58 หรือคำสั่งจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 หากเกิดกรณีวิกฤติตามลำดับต่อไป

“ถ้ามองย้อนหลังไปปีที่ไทยแล้งจัด มีปริมาณฝนน้อยสุด คือปี 2522 หรือ 41 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณฝน 1,332 มม. จากนั้นในปี 2535 หรือ 28 ปีที่แล้ว มีปริมาณฝน 1,357 มม. ในปี 2563 คาดว่าจะมีฝน 1,342 มม. จึงต้องเตรียมรับมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้ผ่านช่วงแล้งปีนี้ไปให้ได้ก่อนที่จะมีฝนตก สถานการณ์น้ำในขณะนี้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีปัญหา จะมีปัญหามากในลุ่มเจ้าพระยาหรือภาคกลาง มีการประกาศก่อนหน้านี้ว่าขอความร่วมมือชาวนาอย่าปลูก ก็ปลูกมากถึง 3 ล้านไร่ เมื่อปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็ถูกลักลอบสูบน้ำไปหมด เจ้าหน้าที่ไปขอความร่วมมือและถึงกับกราบกันเลย เพราะจะต้องเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคด้วย แต่ถ้าต่อไปสถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ ในระดับ 3 ที่นายกรัฐมนตรีลงมาควบคุม สามารถใช้บทลงโทษตามมาตรา 88 ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสมเกียรติกล่าว

ขณะที่ พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์แล้งทั่วทุกภาคของประเทศ มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งไป 18 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร 54 จังหวัด พล.อ.ประวิตรได้มอบนโยบาย โดยน้อมนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 นำทางแก้ปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และได้อนุมัติงบประมาณแล้ว 3,000 กว่าล้านบาท สั่งการหน่วยงานต่างๆให้เร่งหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำเค็ม ต้องควบคุมสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ต้องผนึกกำลังทุกหน่วยงาน มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนลดความเสียหาย

สำหรับพื้นที่ภัยแล้งที่มีการประกาศ 18 จังหวัด มี ภาคเหนือ 5 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย รวม 27 อำเภอ 143 ตำบล 1,071 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด มี นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา รวม 32 อำเภอ 220 ตำบล 2,199 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ภาคกลาง 6 จังหวัดมีกาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี รวม 30 อำเภอ 144 ตำบล 1,136 หมู่บ้าน

...

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง มีหลายจังหวัดวิกฤติหนัก โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ที่หาดพัทยา 2 แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด ตั้งอยู่บ้านหนองกุงเซิน อ.ภูเวียง เป็นชายหาดริมทะเลสาบ เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันออกของเขื่อนอุบลรัตน์ ระดับน้ำแห้งลงไปมาก บางจุดน้ำแห้งจนชาวบ้านพาวัวควายมากินหญ้า บางจุดเป็นสันดอนยาว นายสิงผล เหล่าสีคู อายุ 50 ปี ชาวบ้านหนองกุงเซิน เผยว่า ปีที่ผ่านมา ฝนตกน้อย ทำให้เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำน้อยและลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้พัทยา 2 ที่เป็นแหล่งหากินของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ได้รับผลกระทบอย่างมาก หากจะเดินจากสันดอนฝั่งภูเวียงข้ามไปยังภูพานคำก็เดินข้ามน้ำได้ ไม่ต้องนั่งเรือ เพราะน้ำในเขื่อนลดลงเหลือแค่เอว ถ้าปีนี้ไม่มีฝนตกมาเติมน้ำในเขื่อน เชื่อว่าพัทยา 2 คงไม่มีอีกต่อไป

นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ นำเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว และเผยว่า น้ำในเขื่อนอยู่ที่ 1,363 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน สำนักชลประทานที่ 6 ขอนแก่น สำนักชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี และเขื่อนลำปาว บูรณาการทำแผนส่งน้ำ ลงสู่ลำน้ำปาว ให้ไหลลงน้ำชี เป็นการสนับสนุนน้ำช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มน้ำชีให้เกษตรกรใน จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี รักษาระบบนิเวศและใช้อุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากปีนี้เขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำชีมีน้ำน้อย ขณะนี้เขื่อนลำปาวส่งน้ำเฉลี่ยวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะส่งไปถึงสิ้นสุดฤดูแล้ง

ที่บ้านร่องคำ ต.ร่องคำ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในเขตพื้นที่นอกชลประทาน ก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากแหล่งน้ำในพื้นที่แห้งขอด ชาวบ้านขุดบ่อน้ำตามทุ่งนาที่มีน้ำซึมใต้ดินประมาณ 2-3 เมตร นำน้ำใส่ถังเก็บไว้อาบ ซักผ้า ล้างถ้วยจาน แต่ไม่สามารถนำมาดื่มได้ เนื่องจากน้ำขุ่น ต้องไปซื้อน้ำขวดมากิน นางสุมาลี ละลากร อายุ อายุ 50 ปี ชาวบ้านร่องคำเผยว่า ปีนี้ฤดูแล้งมาเร็ว ร้อนและแห้งแล้งกว่าทุกปี ไม่แน่ใจว่าบ่อที่ขุดไว้จะมีน้ำเพียงพอตลอดแล้งหรือไม่ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือชาวบ้านให้รอดพ้นวิกฤติแล้งไปได้

...

ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายจรินทร์ จักกะพาก สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกับนายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.นครพนม ประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำรับมือปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็วเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 1 เมตร เริ่มส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาสายหลัก โดยเฉพาะลำน้ำก่ำที่รองรับน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร ระยะทางยาวกว่า 120 กม.ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ที่ อ.ธาตุพนม ปัจจุบันระดับน้ำในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำเก็บกักน้ำ 60 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ต้องงดการระบายน้ำลงน้ำโขง เพื่อเก็บกักน้ำให้มากที่สุด เพียงพอต่อการเกษตรในเขตพื้นที่รับผิดชอบกว่า 60,000 ไร่ หากในระยะยาวน้ำไม่เพียงพอจะต้องผันน้ำโขงกลับมาใช้ในระบบชลประทาน

เช่นเดียวกับที่คลองหนองขอน คลองสาขาแม่น้ำยม ในพื้นที่หมู่ 8 ต.ท่าไม้ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ น้ำแห้งมากว่า 4 เดือนแล้ว ชาวบ้านขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ทำให้ต้องงดทำนาและปลูกพืชผลทุกชนิด ชาวบ้านบางรายลงทุนขุดเจาะบ่อบาดาลที่กลางคลอง สูบน้ำมาใช้ประทังความเดือดร้อน ไม่ให้พืชผลไม้ที่มีอยู่ขาดน้ำเหี่ยวแห้งตาย ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลงทุกวันเหลือน้ำเฉพาะส่วนที่ลึก ส่วนที่ตื้นเขินแห้งขอดจนเกิดสันดอนโผล่หลายจุด ทั้งนี้ อบต.ท่าไม้ได้ขอความร่วมมือชาวบ้านไม่ให้สูบน้ำไปใช้ในการเกษตร เพื่อเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค

...

อีกด้านนายกฤษฎา ชัยยา ปลัดรักษาการแทนนายอำเภอเวียงแก่น จ.เชียงราย เผยว่าได้ให้ชุมชนแต่ละหมู่บ้านทำฝายชะลอน้ำในแม่น้ำงาวที่ไหลผ่าน 4 ตำบลไว้สำรองใช้ในการทำเกษตร และให้แต่ละเทศบาลและ อบต.นำน้ำไปแจกจ่ายหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ส่วนภาคการเกษตรหากแม่น้ำงาวแห้งไม่พอใช้จะสูบแม่น้ำโขงขึ้นมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากพื้นที่ อ.เวียงแก่น เกษตรกรปลูกส้มโอเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลัก ขณะเดียวกัน ช่วงเย็นวันที่ 9 ม.ค. เกิดเหตุรถบรรทุกน้ำของ อบต.ปอ อ.เวียงแก่น พลิกคว่ำขณะบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านและนักเรียนในพื้นที่เชิงเขาสูง โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา อ.ไชโย จ.อ่างทอง ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง ทำให้ปลาทับทิมที่เลี้ยงไว้ในกระชังริมตลิ่งตาย ชาวบ้านหลายรายถึงกับหยุดเลี้ยงปลาชั่วคราว ลดความเสี่ยงขาดทุน นายเรวัต ประสงค์ ผวจ.อ่างทอง กล่าวว่า สั่งให้นายอำเภอทั้ง 7 อำเภอสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมเตรียมแจกจ่ายน้ำให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และขุดบ่อบาดาล 130 บ่อช่วยชาวบ้าน

ที่ จ.ฉะเชิงเทรา นายประเทือง อยู่เกษม นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา นายวิชัย สิงหนารถ นายก อบต.คลองหลวงแพ่ง ไปตรวจสอบนาข้าวในพื้นที่หมู่ 4, 5 และ 6 ต.คลองหลวงแพ่ง กับที่หมู่ 13 ต.หนามแดง อ.บางน้ำเปรี้ยว เนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ที่อยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวข้าว บางส่วนกำลังตั้งท้อง เบื้องต้นชาวบ้านช่วยกันสร้างฝายกักเก็บน้ำปากคลองหลวงแพ่งบริเวณจุดตัดระหว่างคลองนครเนื่องเขตกับคลองหลวงแพ่ง กรมชลประทานได้นำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือชาวบ้าน เพื่อดึงน้ำคลองนครเนื่องเขตส่งไปยังคลองหลวงแพ่ง รวมกับเครื่องสูบน้ำชาวบ้านอีก 2 เครื่อง เพื่อให้ผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปให้ได้

อีกด้านสายวันเดียวกัน เกษตรกรจาก 3 จังหวัด มีกำแพงเพชร พิจิตร และนครสวรรค์ กว่า 1,000 คน ไปรวมตัวกันที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองชลประทานวังยาง ต.วังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยน้ำช่วยนาข้าวและพื้นที่เกษตรกรกว่า 2 แสนไร่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หลังตามกำหนดให้ปิดประตูน้ำวันที่ 31 ม.ค. แต่เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนเจ้าหน้าที่ปิดคลองส่งน้ำก่อนกำหนด ทำให้ชาวนาเดือดร้อน เนื่องจากต้นข้าวไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง ต่อมานายเทวัญ หุตะเสวี รอง ผวจ.กำแพงเพชร เดินทางไปพบเกษตรกรและรับปากจะนำความเดือดร้อนของชาวบ้านเสนอไปยังกรมชลประทานช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านพอใจแยกย้ายกลับไป