“น้องคนหนึ่งเขียนมาเล่าให้ฟัง ปลายปีที่แล้ว...อาจารย์ครับ ผมเป็นหมอ ทำงานที่ รพช.แห่งหนึ่งใน จ. ...ผมเพิ่งจะเขียนใบลาออกจากราชการหลังจากทำงานมา 6 ปีครับ...”
สาเหตุที่ออกเพราะต้องอยู่เวรหนักมากครับ ทำงานต่อเนื่อง เวรวันหยุดตรวจเป็นร้อยครับอาจารย์ ดูคนไข้ OPD ER ราวนด์ วอร์ดคนเดียวทั้งโรงพยาบาลครับ...แล้วเคสที่มาส่วนมากก็ “หวัด”
คือ...เป็นไข้ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง แล้วมาให้เราตรวจ ขณะที่ยังมีเคสฉุกเฉินจริงที่เราต้องตรวจด้วย...พอมานอกเวลาราชการต้องเข้าฉุกเฉินหมด ซึ่งไม่ฉุกเฉินคิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งหมด
“...ผมรู้สึกแย่มากครับอาจารย์ เหนื่อยมาก แทบจะหายใจไม่ออก มันจุกมันแน่นไปหมด มีแต่ถามตัวเองซ้ำๆว่าทำไมเราต้องรับทุกอย่าง ทนไปทำไม ในเมื่อเอกชนที่สบายกว่า รายได้ดีกว่ามีเยอะแยะ”
...ผมเห็นด้วยว่าระบบกำลังจะล่มครับ แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจจะอยู่ รพช.ตลอดไป เพราะเป็นบ้านเกิดผม...แต่ตอนนี้ความคิดผมเปลี่ยนไปแล้วครับ ความรู้สึกหลังจากยื่นใบลาออกรู้สึกโล่งมากครับ
“ไม่รู้จะทนไปทำไม...ผมป่วยเป็นเส้นเลือดดำในตาตันที่ตาซ้าย ความดันลูกตาสูง...ผมคิดว่าทั้งหมดเพราะสุขภาพที่ย่ำแย่ ไม่ได้นอน เครียดจากงาน จากทุกสิ่ง...ผมคงพอแค่นี้แหละครับกับระบบแย่ๆแบบนี้ ประชาชนไม่ดูแลสุขภาพตัวเองเบื้องต้น...ขอบคุณอาจารย์ที่รับฟังครับ ผมได้หลุดพ้นแล้วครับ”
เรื่องราวข้างต้นถูกโพสต์ไว้เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ในเฟซบุ๊กเพจ “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha”
นานาทัศนะทะลักล้น...ยกตัวอย่างคัดลอกมาให้อ่านเป็นกษัยจากผู้ใช้นามว่า “ตะกอนนอนก้น ห้ากวน” เธอว่า...เข้าใจคุณหมอค่ะ คนไทยก็ไม่รู้จักดูแลสุขภาพเบื้องต้น คนจนอยากดูแลสุขภาพอยู่ แต่ติดขัดหลายอย่าง ความรู้เกี่ยวกับโทษของยาก็ไม่มี อาหารหลัก 5 หมู่ก็ไม่ครบไม่รู้หมู่ไหนเป็นหมู่ไหน
...
ถัดมา...“Pamoo Happywealth” สะท้อนมุมคิดที่ว่า คนไทยส่วนมากแล้ว...ไม่ว่ารวยหรือจน...จะติดในรสชาติของความอร่อย...ไม่คำนึงถึงความเจ็บป่วยหรือความตาย...บางครั้งคนที่ป่วยอยู่ยังติดตรงรสชาติ...เขาก็สมควรทนให้ได้ต่อสิ่งนั้นๆ...ไม่มีใครจะชี้นำได้หรอกเมื่อเขายังไม่รักตัวเอง...
“พวกที่เป็น...ไขมัน...ความดัน...เบาหวาน...มะเร็ง...ทุกอย่างเราดูแลตัวเอง...บางครั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ยังดูแลตัวเองไม่ได้...แล้วชาวบ้านจะไปเชื่อใครล่ะ”
และ “Suachi Thanam” ผมคนนึงก็ผ่านอารมณ์แบบน้องหมอคนนี้มาแล้ว...มันเหนื่อย มันเครียด มันกดดัน มันทำงานไม่มีความสุข สุขภาพย่ำแย่...ผมก็ลาออกมาแล้ว มันรอวันล่มสลายจริงๆ
เสียดแทงใจสะท้อนความเป็นจริง “Chartchai Pi” อีกเสียงที่ยืนยัน... หมอก็งานหนัก คนป่วยก็เสียเวลาไปเป็นวันกับการรอพบหมอ 3 นาที มันต้องมีอะไรที่ต้องปรับปรุงให้ดีกว่านี้ หน้าที่ใคร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง
“Varathit Chan” ตอบกลับในมุมคิดที่ว่า “ระบบ” ต้องปรับปรุงให้ก้าวให้ทัน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานต้องไปรอเจาะเลือด รอหมอตรวจ รอรับยาเต็มโรงพยาบาลต่างๆ ในแต่ละพื้นที่น่าจะสำรวจพื้นที่ผู้ป่วยแล้วจัดรถออกเจาะเลือดตามหมู่บ้าน ตามศูนย์ชุมชน ตามนัดในแต่ละพื้นที่ (สอง...สามเดือนครั้ง)
“รวบรวมเลือดมาตรวจที่ห้องแล็บโรงพยาบาล ส่งผลตรวจให้หมอวินิจฉัย สั่งยา ห้องยาเตรียมยาเป็นชุดให้ผู้ป่วยตามที่หมอสั่ง อีกหนึ่งสัปดาห์ให้รถออกไปจ่ายยาให้ผู้ป่วยตามศูนย์ชุมชน...อาจให้หมอประจำบ้านออกตรวจอาการอื่นๆด้วย ทำแบบนี้ได้จะลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องไปรอใน รพ.เยอะมาก”
ถึงตรงนี้คงต้องมองไกลๆยาวๆไปถึงอนาคต...“ข้อเสนอจากแพทย์ จบใหม่”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือตระหนักถึงปัญหา “หมอแพทย์” ใช้ทุน “ลาออก” ไม่อยู่ใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนในปีต่อๆไป หรือลาออกเสียตั้งแต่ก่อนจบปีแรกมาเกิน 10 ปีแล้ว
...
แต่...การแก้ปัญหายังไม่มีความชัดเจน เพิ่มค่าตอบแทนน้อยนิด อยู่ในระบบต่อไปค่าตอบแทนก็ไม่ต่างเท่าไหร่ ลาออกกันมากขึ้นเรื่อยๆ หมอในระบบน้อยลง ไม่สามารถพัฒนาสาธารณสุขท้องถิ่นได้ สุดท้าย...“หมอ” ที่ยังอยู่ก็ต้องรับ “ภาระ” มากขึ้น...เป็นวงจร ถ้าไม่ตัดวงจรนี้ก็ไม่สามารถทำให้ปัญหาดีขึ้นได้
หนึ่ง...สาเหตุหลักคือเวลางานที่หนักเกินไป สังคมเปลี่ยนไป หมอก็อยากมีชีวิตดีๆบ้าง ต้องยอมรับว่ามาเป็นหมออยากช่วยคน แต่จะให้เสียสละทั้งชีวิต น้อยคนจะยอม
...ต้องออกเป็นกฎทั่วประเทศเหมือนกัน ว่าห้ามทำงานเกินกี่ชั่วโมงต่ออาทิตย์...รวมการไปทำเอกชนด้วย ไม่ใช่พอให้ทำน้อยลงก็ไปรับเอกชน สุดท้ายก็ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพอยู่ดี ห้ามทำติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง บังคับให้ได้หยุดในวันหยุด (unsociable hour) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งต่อเดือน
...ปัญหาที่จะเจอคือ หมอไม่พอเพราะเวลางานลดลง ต้องจัดการหาเงินมาว่าจ้างหมอชั่วคราวมาช่วยในชั่วโมงที่หาคนทำงานไม่ได้ เก็บข้อมูลว่าจำเป็นต้องมีหมอเพิ่มอีกเท่าไหร่จึงจะสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่ต้องจ้างชั่วคราวในอนาคต และวางแผนรับเพิ่มในระยะยาว
สอง...แบกรับความรับผิดชอบสูงเกินไป เพราะคิดว่าเดี๋ยวต้องไปอยู่ชุมชนต้องทำเป็นทุกอย่าง หมอหนึ่งคนไม่สามารถเก่งทุกอย่างได้ โดยเฉพาะใน 5 ปีหลังมีการตั้งเกณฑ์คุณภาพในการรักษาดูแลคนไข้สูงมากเนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ที่เยอะขึ้นอย่างก้าวกระโดดจึงทำให้ต้องอ่านทบทวนอยู่ตลอดเวลา และความรู้ของคนไข้กับญาติสูงขึ้นจึงจำต้องอธิบายและตอบคำถามเป็นเวลานาน จึงเป็นระบบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพจิต
การกระจายอำนาจ ยกระดับ รพ.ชุมชนให้มีระบบชัดเจนมีคนบริหารมีหมอเพิ่มเช่นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่มีความสนใจพิเศษเฉพาะด้านๆไป...ยังได้ข้อดีในการทำการส่งเสริมสุขภาพท้องถิ่นและสนับสนุนการป้องกันทั้งระดับปฐมภูมิ...ทุติยภูมิ ป้องกันโรคก่อนจะเป็น...ตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการที่เข้มแข็งขึ้น
...
...เพิ่มปีการใช้ทุนและเพิ่มปีการเรียนเฉพาะทาง แต่ต้องทำให้ระบบน่าอยู่ต่อ พอจบแล้วก็อยากอยู่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐต่อ เช่น ใช้ทุนที่บ้านเกิดตนเอง เพื่อที่อยากจะพัฒนาสุขภาพชุมชนที่ตนเองเกิดมาไม่ใช่บ้านอยู่จันทบุรี แต่โดนส่งไปแหลมฉบังเพราะจับสลาก นอกจากนั้นเพิ่มเงินเดือนตามจำนวนปีที่อยู่ให้สูง เพื่อที่จะอยู่ได้โดยสามารถเลี้ยงครอบครัวได้...ลดจำนวนที่ใช้ทุนแล้วเรียนเฉพาะทางจบก็ลาออกไปทำเอกชน
สาม...ความเสี่ยงสูงโดนฟ้องร้องสูง เสียความรู้สึก เลือกเรียนสาขาที่ไม่เสี่ยง เช่น ผิวหนัง จักษุ หรือเสริมความงาม ซึ่งสามารถเลือกเวลางาน ไม่มีฉุกเฉินและค่าตอบแทนสูง ไม่ว่าจะเป็น...เรื่องจากพักผ่อนไม่พอแก้ไปในข้อแรก หรือ...มีความชัดเจนในการปกป้องหมอ กำจัดกลุ่มเอาเปรียบระบบโดยมาตรการเด็ดขาด...มีความชัดเจนในการดูแลช่วงบั้นปลายชีวิตคนไข้ เรื่องการสอดท่อช่วยหายใจ การให้ยากระตุ้น การปั๊มหัวใจ
เหล่านี้คือ “การรักษา” แพทย์ต้องเป็นคนตัดสินใจ แต่ต้องมีการคุยอธิบายกับคนไข้และญาตินับรวมไปถึง...เพิ่มค่าตอบแทนสูงสุดในสาขาขาดแคลน เช่น ศัลยกรรมสมอง
...
นโยบายระบบสุขภาพ “ประเทศไทย”...มีผลเกี่ยวโยงกระทบโดยตรงกับสิทธิบริการสุขภาพของ “คนไทย” ทุกคน “หมอ...บุคลากรทางการแพทย์” เป็นฟันเฟืองสำคัญในผลลัพธ์สุขภาพคนไทยที่เกิดขึ้น
“ไม่มีสาธารณสุขที่ดี ก็ไม่มีเศรษฐกิจที่ดี คนป่วยทำงานไม่ได้ ป่วยหนักไม่มีที่พึ่ง ลูกหลานที่ทำงานได้ก็ต้องมาดูแล และออกจากงาน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กล่าวทิ้งท้าย.