สนองนโยบาย “ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้”
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้เตรียมของขวัญเพื่อส่งมอบความสุขให้ประชาชนเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ 4 ชิ้น ได้แก่ ชิ้นที่ 1 เมล็ดไม้มีค่า 23 ชนิด จำนวนกว่า 5 ล้านเมล็ด บรรจุในซองของขวัญที่กรมป่าไม้จะได้นำไปมอบให้พี่น้องประชาชนจำนวน 101,010ซอง โดยจัดแคมเปญมอบของขวัญชิ้นนี้ว่า “เมล็ดไม้มีค่า ที่หน้าอำเภอ” เช่น ประดู่บ้าน พะยูง แดง มะค่าโมง เป็นต้น พร้อมทั้งบอกวิธีการเพาะชำเมล็ดไม้ การปลูก การดูแลรักษาต้นไม้ทุกชนิด เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ดที่อยู่บนซองที่บรรจุเมล็ดไม้ โดยมอบให้หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ประจำอำเภอ ที่ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนเป็นผู้นำของขวัญชิ้นนี้ไปมอบให้พี่น้องประชาชนในทุกอำเภอ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.2562-1 ม.ค.2563
นับจากภายหลังจากที่รัฐบาลได้ปลดล็อกมาตรา 7 ทำให้ต้นไม้ทุกต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายที่ดิน และอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิ ไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ประชาชนสามารถปลูกได้ ตัดได้ และขายได้ กรมป่าไม้จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกไม้มีค่าที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้รับโชคถึง 6 ต่อ คือ ต่อที่1 เรื่องของการมีไม้ไว้ใช้สอยในอนาคต ต่อที่ 2 สามารถตัดขายเพิ่มรายได้จากความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมไม้ที่มีความต้องการสูง ต่อที่ 3 ต้นไม้ยืนต้น สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้ ต่อที่ 4 การปลูกต้นไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ว่างเปล่าสามารถช่วยลดภาษีที่ดินได้ ต่อที่ 5 การปลูกไม้มีค่าจะเป็นเหมือนการออมเงินให้กับตนเองและส่งต่อให้กับลูกหลาน เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตจะสร้างมูลค่ามากมายในอนาคต ต่อที่ 6 ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ
...
ด้านนางนันทนา บุณยานันต์ โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ของขวัญชิ้นที่ 2 กรมป่าไม้จะตั้งจุดพักสำหรับบริการประชาชนที่เดินทางระหว่างช่วงเทศกาลปีใหม่ รวม 197 จุด ในพื้นที่ 24 จังหวัดทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการไว้คอยช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.2562 -1 ม.ค.2563 ชิ้นที่ 3 การจัดกิจกรรม “ปีใหม่หรรษา มาเที่ยวป่าในเมือง” ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2562-1 ม.ค.2563 จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีวนวัฒนวิจัยบ่อแก้ว จ.เชียงใหม่ 2.สถานีวนวัฒน–วิจัยอินทขิล จ.เชียงใหม่ 3.สวนป่าพุแค จ.สระบุรี 4.สถานีวนวัฒนวิจัยห้วยทา จ.อุบลราชธานี 5.โครงการพัฒนาป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ใต้ จ.เพชรบุรี 6. ป่าในเมืองเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี 7.ป่าในเมืองป่าปอม คลองสองน้ำ จ.กระบี่ 8.ป่าในเมือง ศูนย์วนวัฒนวิจัยภาคใต้ จ.สงขลา และ 9.สถานีวนวัฒน–วิจัยสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี โดยแต่ละแห่งจะจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน และชิ้นที่ 4 จะเร่งประกาศเขตพื้นที่ คทช. เพื่อมอบให้ประชาชนทำกิน.