แต่ละปีซอสพริกมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 2 พันล้านบาทและมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี และพันธุ์พริกที่โรงงานผลิตซอสมีความ ต้องการมากที่สุด คือ พริกใหญ่ที่มีรสชาติเผ็ดน้อย แต่การพัฒนาพันธุ์พริกใหญ่ให้มีปริมาณคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดมีไม่มาก
ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พริกใหญ่เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่โรงงานผลิตซอสพริกต้องการ คือ ผลสุกมีสีแดงเข้ม เนื้อหนา ผลมีขนาดใหญ่ ยาว และรสชาติเผ็ดน้อย ล่าสุด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์พริกใหญ่และผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมฯ ในปี 2562 โดยใช้ชื่อว่า “พริกใหญ่พันธุ์พิจิตร 2”
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า พริกพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะเด่นให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองของเกษตรกรทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ในฤดูแล้งให้ผลผลิตไร่ละ 3,675 กก. ฤดูฝนให้ผลผลิตไร่ละ 1,465 กก. ต้นสูง 78 ซม. สูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์การค้า ทำให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
...
“ที่สำคัญผลมีขนาดใหญ่เรียวยาว ยาว 11.7 ซม. เนื้อหนาเฉลี่ย 1.95 มม. ยาวกว่าพริกพันธุ์อื่น ผลมีสีแดงเข้มและเผ็ดน้อย 26,800 สโควิลล์ เหมาะสำหรับนำไปผลิตเป็นซอสพริกตรงกับความต้องการของโรงงานนอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อสภาพน้ำขัง และสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งยังเป็นพันธุ์ผสมเปิดให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้ปลูกในรุ่นต่อไปได้ แทนการใช้พันธุ์ลูกผสมที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรบอกอีกว่า จากการประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัย แพร่ และอุทัยธานี เกษตรกรมีความพอใจมากที่สุด ในด้านความสูงของต้นที่ทำให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และความทนทานต่อความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์พริกใหญ่พิจิตร 2 ได้ปีละ 10 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับพื้นที่ปลูกจำนวน 300 ไร่ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง เกษตรกรสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยพืชสวน 0-2579-0583.