น้ำบาดาล...ลายแทงขุมทรัพย์ใต้ดิน!

แน่นอน ที่ต้องจั่วหัวไว้ข้างต้น ก็เพราะน้ำบาดาล หรือน้ำใต้ดิน คือ แหล่งน้ำธรรมชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะน้ำบาดาล นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งนํ้าสำรองที่ใช้ในการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในยามขาดแคลนน้ำผิวดินด้วย

ที่สำคัญ น้ำบาดาลมีศักยภาพและปริมาณมากกว่าน้ำผิวดินถึง 24 เท่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณน้ำบาดาลที่กักเก็บรวมถึง 1,137,713 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่แต่ละปีจะมีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติมแล้วไหลลงใต้ดินอีกประมาณ 72,987 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณที่สามารถใช้ได้เต็มที่มีประมาณถึง 45,385 ล้าน ลบ.ม.

แต่ที่ผ่านมาใช้ไปเพียง 14,741 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่ายังคงเหลือปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถใช้ได้อีกถึง 30,645 ล้านลูกบาศก์เมตร

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงดึงศักยภาพของน้ำบาดาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเตรียมรับมือกับวิกฤติภัยแล้งรอบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ยาวไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าคือ เดือน พ.ค.2563 โดยเฉพาะ 22 จังหวัด 58 อำเภอ

...

“ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งสำรวจแหล่งน้ำบาดาลทั้ง 77 จังหวัด พร้อมจัดทำแผนที่น้ำบาดาล เพื่อพิจารณาขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งอุปโภคบริโภคและภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 700 แปลงใหญ่ ใน 40 จังหวัด รวมพื้นที่ 86,000 ไร่ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขการขาดแคลนน้ำ เบื้องต้นจะเร่งสำรวจและจัดทำแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล โดยจะนำร่องปี 2563 ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันตก คือ กาญจนบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี เนื่องจากมีประชาชนทำการเกษตรและอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่สำคัญเป็นพื้นที่มีศักยภาพน้ำบาดาล” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วน

ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์
ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์

ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบน้ำบาดาลคือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดี กล่าวว่า กรมจะเร่งขุดเจาะแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพมารองรับความต้องการใช้น้ำที่มีมากขึ้น และขณะนี้ได้สั่งการให้จัดทำแผนที่น้ำบาดาลทั่วประเทศรวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่อีอีซี

“ปัจจุบันกรมทำแผนที่น้ำบาดาลขั้นรายละเอียด มาตราส่วน 1 : 100,000 จากนี้ จะทำมาตราส่วน 1 : 50,000 ซึ่งจะมีความละเอียดมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้และอนุรักษ์น้ำบาดาลให้สอดรับกับสภาพปัญหา รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนให้ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำบาดาล ได้อย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อระดับชั้นน้ำบาดาลในระยะยาว” นายศักดิ์ดา ระบุ

แต่อย่างไรก็ตาม น้ำบาดาลที่มีอยู่ปัจจุบัน ถือว่ามีความมั่นคง สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ในภาคเหนือมีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บ 166,860 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 241,312 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 412,856 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 53,197 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 63,710 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 199,779 ล้าน ลบ.ม.

มีบ่อน้ำบาดาลทั้งประเทศ 170,541 บ่อ แบ่งเป็นบ่อราชการ 107,130 บ่อ บ่อเอกชน 63,411 บ่อ และบ่อสังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาล 2,744 บ่อ

ที่สำคัญในปี 2563 มีแผนโครงการเติมน้ำใต้ดินทั่วประเทศในแอ่งน้ำบาดาลเจ้าพระยา และแอ่งน้ำบาดาลจันทบุรี-ตราด โดยสำรวจคัดเลือกพื้นที่ 2,530 แห่ง และมีแผนโครงการที่จะดำเนินการจำนวน 1,928 โครงการ เช่น แผนโครงการน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค 999 แห่ง แบ่งเป็นโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับระบบประปาหมู่บ้าน 548 แห่ง, โครงการสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน (ขนาดใหญ่) 146 แห่ง, โครงการสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน 285 แห่ง และโครงการจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 54 แห่ง ส่วนแผนโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 895 แห่ง แบ่งเป็นโครงการน้ำเกษตรแบบจุ่มใต้น้ำ 454 แห่ง, โครงการน้ำเกษตรแบบเทอร์ไบน์ 143 แห่ง และโครงการน้ำเกษตรแบบพลังแสงอาทิตย์ 298 แห่ง ซึ่งปริมาณน้ำที่คาดว่าจะได้รับ 44 ล้าน ลบ.ม./ปี ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 41,760 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 129,097 ครัวเรือน

...

“ส่วนเรื่องภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ได้เตรียมจุดจ่ายน้ำถาวร 132 จุด หน่วยนาคราช 37 หน่วย รถบรรทุกน้ำ 79 คัน ขุดเจาะบ่อบาดาล 85 ชุด และชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด เพื่อช่วยเหลือประชาชน” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าว

นี่คือประโยชน์ของน้ำใต้ดินที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน

ดังนั้น การจัดทำแผนที่น้ำบาดาลจึงมีความสำคัญ เพื่อทำให้ทราบถึงศักยภาพน้ำบาดาลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนการสำรวจและการเจาะน้ำบาดาล

ที่สำคัญ แผนที่นี้จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เพื่อแก้วิกฤติน้ำและภัยแล้งของประเทศ.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม