ทุ่ม 3 แสนล้าน จัดการน้ำปี 63
ทั้งชุมชน ร้านค้า ห้างยักษ์ใหญ่ผวาระดมกระสอบทรายทำแนวป้องกัน บริษัทรถหรูย้ายรถหนีเกลี้ยงโชว์รูม ส่วนที่ศรีสะเกษอพยพ 29 ครอบครัวไปอยู่ที่ปลอดภัย หลังน้ำห้วยสำราญระบายลงแม่มูลไม่ได้ไหลท่วมบ้าน “บิ๊กป้อม” ประชุม กนช. ตั้ง “นายกฯ” คุมวอร์รูมแก้ปัญหาทั้งระบบ ทุ่มงบฯมหาศาลกว่า 3.1 แสนล้าน บริหารจัดการน้ำปี 63
น้ำท่วมภาคอีสานยังน่าห่วง โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้นทุกวันจนเอ่อท่วมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำทั้งเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
แม่น้ำมูลขึ้นสูงสุดในรอบ 17 ปี
สถานการณ์แม่น้ำมูลเมื่อวันที่ 12 ก.ย. พบว่าระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำมูล M7 เวลา 07.00 น. อยู่ที่ 115.88 ม.รทก. สูงกว่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2545 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน (115.77 ม.รทก.) ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากวันที่ 11 ก.ย. อีก 15 ซม. ล่าสุดน้ำไหลท่วมพื้นที่ชั้นล่างซึ่งเป็นชั้นจอดรถตลาดใหญ่เทศบาลนครอุบลราชธานีแล้ว ส่วนพื้นที่ชั้นในของเขตเทศบาลมีน้ำทะลักเข้าท่วมหลายสาย เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรบริเวณแยกบุ่งกาแซว แยกจำปาหอม หน้าวัดศรีประดู่ และบริเวณถนนสมเด็จสันอ่างเก็บน้ำห้วยวังนอง น้ำเริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านต้องนำกระสอบทรายมากั้นน้ำไม่ให้ไหลท่วมบ้าน ชาวบ้านที่อาศัยย่านดังกล่าวเผยว่า ปีนี้น้ำเยอะมาก ชุมชนแห่งนี้ไม่เคยโดนน้ำท่วมมานานถึง 17 ปีแล้ว บางชุมชนท่วมมาหลายวันจนน้ำเริ่มเน่าเหม็นแล้ว
...
สั่งห้ามรถลุยน้ำลดผลกระทบ
ด้านนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.อุบลราชธานี เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำมูลบริเวณตลาดใหญ่ว่า ขณะนี้ระดับน้ำสูงขึ้นประชาชนร้านค้าช่วยกันทำแนวป้องกันน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเสียหายไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ได้ให้ศูนย์บัญชาการเหตุอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม จ.อุบลราชธานี ออกข้อปฏิบัติเพิ่มเติม ห้ามรถราชการ หรือหน่วยงานของรัฐขับผ่านเข้าไปในเขตน้ำท่วมที่ประชาชนทำแนวป้องกันกระสอบทรายไว้ หรือติดตั้งแผงกั้นห้ามผ่าน เว้นเหตุจำเป็นเพื่อการกู้ชีพกู้ภัยฉุกเฉิน หากมีเหตุจำเป็นเพื่อการสนับสนุนช่วยเหลือ แจกจ่ายส่งของให้ใช้เรือหรือแพลำเลียงให้เทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดหากระสอบทรายและทรายสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อสร้างแนวป้องกันให้เพียงพอทั่วถึงโดยประเมินสถานการณ์ร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด
น้ำเสียบ่อบำบัดดันท่วมบ้าน
ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้บ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครอุบลราชธานี เช่นชุมชนหน้าวัดประดู่ และชุมชนบูรพา ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี ช่วยกันนำกระสอบทรายมากั้นน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่ทะลักจากท่อระบายน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนสูงกว่า 50 ซม. ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เนื่องจากน้ำมีกลิ่นเหม็นมาก น.ส.เปรมฤทัย พงค์ฐิติรัตน์ อายุ 35 ปี ชาวชุมชนบูรพา เผยว่า ขณะนี้ แม่น้ำมูลไหลท่วมบ่อบำบัดที่อยู่ห่างตลิ่งประมาณ 1 กม. ทำให้น้ำถูกดันขึ้นท่อระบายน้ำเอ่อท่วมบ้าน นอกจากข้าวของเสียหายแล้วยังมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากน้ำในบ่อบำบัด และเป็นห่วงเรื่องของเชื้อโรคที่ไหลมากับน้ำเสีย ขณะที่การประกาศแจ้งเตือนของทางการก็ล่าช้าเหมือนการคาดเดา เพราะน้ำมาถึงบันไดขั้นสุดท้ายแล้วเพิ่งมาประกาศให้ขนของไว้ที่สูง ทำให้ไม่ทันกาล
ยันน้ำยังไม่ท่วม รพ.สรรพสิทธิฯ
นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี เผยว่า ขณะนี้น้ำยังไม่ท่วมโรงพยาบาล แต่เพื่อความปลอดภัย และเป็นการเตรียมป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์วิกฤติ โรงพยาบาลจึงเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดเหตุน้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ชั้นในของโรงพยาบาลด้วยการนำกระสอบทรายทำแนวกันน้ำในจุดเสี่ยงและขนย้ายเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ทางยาขึ้นไปไว้ในที่ปลอดภัย รวมถึงก่ออิฐป้องกันน้ำท่วมท่อส่งน้ำประปาที่ใช้ในโรงพยาบาลและเครื่องสำรองไฟฟ้า เตรียมพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทีมแพทย์และพยาบาลยังทำงานได้ตามปกติ
ถนนหน้าเซ็นทรัลฯน้ำสูง 30 ซม.
ส่วนฝั่งเทศบาลเมืองวารินชำราบ ล่าสุดแม่น้ำมูลเข้าท่วมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจตั้งแต่เชิงสะพานแม่น้ำมูล บางช่วงน้ำสูงกว่า 1 เมตร จนต้องปิดการ จราจร ส่วนบริษัท ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ เร่งกั้นกระสอบทรายป้องกันความเสียหาย เช่น ร้านไทวัสดุ โฮมฮับ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอุบลราชธานี ล่าสุดนํ้าในคลองระบายน้ำหน้าศูนย์ การค้าฯเอ่อท่วมผิวถนนหน้าห้างสูง 30 ซม. ทางห้างต้องประกาศปิดประตูทางเข้าออกฝั่งหน้าห้างทั้ง 2 ประตู ให้ไปใช้ประตูด้านข้างฝั่งถนนสรรพสิทธิ์ แทน แต่ห้างยังเปิดบริการตามปกติและงดจัดงานอีเวนต์ทั้งหมด พร้อมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยนำรถยนต์เข้ามาจอดในศูนย์การค้าฯเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากอยู่สูงกว่าพื้นถนนกว่า 3 เมตร
...
ย้ายรถหรูหนีน้ำเกลี้ยงโชว์รูม
ขณะที่โชว์รูมรถหรูบริษัทมิลเลนเนียมออโต้ กรุ๊ป เร่งขนย้ายรถบีเอ็มดับเบิลยู มินิคูเปอร์ และรถยนต์มือสองทั้งหมดออกจากโชว์รูม เหลือเพียงพนักงานไว้คอยต้อนรับลูกค้า โดยนายอนุสรณ์ วานิชสำราญ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทมิลเลนเนียมฯ เผยว่า ตอนนี้สถานการณ์น้ำไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากรอบๆโชว์รูมเป็นทางน้ำผ่าน ทำให้เสี่ยงจะถูกน้ำท่วม จึงเคลื่อนย้ายรถออกจากพื้นที่โชว์รูมทั้งหมดเพื่อป้องกันความเสียหาย โดยนำไปไว้บนลานจอดรถชั้น 3 ห้างสุนีย์ทาวเวอร์ ส่วนที่โชว์ยังคงเปิดให้บริการตามปกติและแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นจุดทำถุงยังชีพเพื่อเตรียมนำไปให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่จนกว่าน้ำจะท่วมถนนด้านหน้าหรือท่วมโชว์รูม
เขื่อนลำปาวน้ำสูงกว่าปีก่อน
ที่ จ.กาฬสินธุ์ สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายแล้ว ระดับน้ำลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมา เพิ่ม อีกทั้งหน่วยงานราชการระดมเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำปาวที่เอ่อล้นตลิ่งท่วมนาข้าวและพื้นที่การเกษตร 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ร่องคำ ไปลงแม่น้ำชี คาดว่าน้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้ ขณะที่เขื่อนลำปาว อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังมีน้ำไหลเข้าอ่างอย่างต่อเนื่อง เช้าวันนี้มีน้ำไหลเข้า 66 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดมีน้ำกักเก็บ 1,535 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุ ยังรับน้ำได้อีก 444 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่างปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีน้ำกักเก็บที่ 1,285 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64 เปอร์เซ็นต์ ด้านนายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว เผยว่า แม้ปีนี้เขื่อนจะมีน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำ เป็นการปล่อยน้ำตามระบบคลองส่งน้ำวันละ 1.7 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
...
ทหารช่วยเปิดทางน้ำท่วมถนน
ด้าน พ.อ.ชวลิต พบจันอัด ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 อ.นาแก จ.นครพนม ระดม เจ้าหน้าที่ รถแบ็กโฮและเครื่องจักร ไปช่วยเปิดทางน้ำที่ท่วมขังถนนทางหลวง 223 เส้นทาง อ.นาแก ไป จ.สกลนคร ช่วง ต.หนองบ่อ กับ ต.คำพี้ อ.นาแก หลังเกิดฝนตกหนักน้ำป่าจากเทือกเขาภูพานไหลหลากท่วมถนนสูงประมาณ 20-30 ซม. และพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่าหลายร้อยไร่ จึงเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังลงลำห้วยสาขาระบายลงลำน้ำก่ำและนำดินลูกรังและถุงบิ๊กแบ็กมาถมในจุดที่น้ำกัดเซาะริมถนนและท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันถนนทรุดเสียหาย ขณะเดียวกัน ทางอำเภอนาแกแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากน้ำในลำห้วยสาขาเริ่มล้นตลิ่ง รวมถึงลำน้ำก่ำรับมวลน้ำจากหนองหารเริ่มเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร ขณะที่ ชลประทานยังคงเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับมวลน้ำที่ไหลมาสมทบมากที่สุด
เร่งอพยพ 29 ครอบครัวหนีน้ำ
ที่ จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านคุ้มหนองหมู หมู่ 8 ต.โพธิ์ อ.เมืองศรีสะเกษ จำนวน 29 ครอบครัว อพยพ หนีน้ำท่วมไปอาศัยอยู่ริมถนนเฉลิมราชย์ 60 ปี หลังน้ำป่าเทือกเขาพนมดงรักเขตชายแดนไทย-กัมพูชา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ไหลลงลำห้วยสำราญ เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำมูล แต่เนื่องจากแม่น้ำมูลมีปริมาณน้ำมาก ทำให้ห้วยสำราญระบายไม่ได้จนเอ่อท่วมบ้าน ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงกบและเลี้ยงปลาถูกน้ำท่วมลอยหายไปตามกระแสน้ำจนหมด ด้าน น.ส.พเยาว์ โสดาลี ประธานชุมชนคุ้มหนองหมู กล่าวว่า ปีนี้น้ำมาเร็วและไหลแรงขึ้น เรื่อยๆ จึงแจ้งให้ชาวบ้านเร่งขนย้ายสิ่งของขึ้นไปพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ทางเทศบาลเมืองศรีสะเกษจัดไว้ให้จนเต็มเต็นท์ที่กางไว้ และแจ้งให้เทศบาลจัดหาเต็นท์เพิ่มเพื่อรองรับชาวบ้านที่เหลือ เนื่องจากน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าปีนี้น้ำจะท่วมนานแน่นอน
...
ฝนถล่มหนัก–น้ำท่วมอุดรฯอีก
จ.อุดรธานี ฝนที่ตกหนักติดต่อกัน 2 วันครอบคลุมทั้งจังหวัด วัดปริมาณน้ำฝนสูงสุด 110 มิลลิเมตร ที่ อ.เมืองอุดรธานี ส่งผลให้น้ำระบายไม่ทันเอ่อท่วมถนนในเขตเทศบาลนครอุดรธานี เจ้าหน้าที่ต้องเร่งสูบน้ำทั้งสถานีสูบน้ำ 15 สถานีออกนอกเมือง ขณะที่ระดับน้ำในลำห้วยหลวงที่ลดลงกลับมีน้ำเพิ่มสูงขึ้น ที่ประตูน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี เมื่อ 2 วันก่อนระดับน้ำอยู่ที่ 48 ซม. เหนือตอม่อกลับมาสูงขึ้นเป็น 85 ซม. สำนักชลประทานที่ 5 นำเครื่องผลักดันน้ำมาติดตั้ง2ชุด เพื่อเร่งดันน้ำให้ไหลเร็วขึ้น ขณะที่บ้านเรือนประชาชน ต.นากว้าง ต.หมูม่น ต.กุดสระ และเขตเทศบาลเมืองหนองสำโรง น้ำสูงขึ้น 30 ซม. ส่วนที่บ้านหนองฮาง หมู่ 4 ต.เชียงพิณ คันดินคลองส่งน้ำเกิดชำรุดทั้ง2ด้าน ทำให้น้ำที่ลดลงกลับมาท่วมขังอีกครั้ง เช่นเดียวกับบ้านหนองลีหู ต.สามพร้าว และบ้านนาทราย ต.หนองบัว น้ำเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
สำรวจห้วยหลวงหาทางระบาย
นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาทำให้น้ำล้นตลิ่งในลำห้วยหลวงระดับสูงขึ้นมาก พื้นที่น้ำท่วมขยายวงกว้างออกไปอีก ขณะที่การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงช้าต้องใช้เวลาพอสมควรจึงระบายหมด หากฝนตกลงมาอีกระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก ส่วนการระบายน้ำได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ขนาด 24 นิ้ว 2 ชุด ที่ประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าวและขอเพิ่มอีก 2 ชุด แต่ไม่รู้จะได้มาหรือไม่ เพราะที่อื่นก็ท่วมหนักเช่นกัน นอกจากนี้ จัดทีมออกสำรวจเส้นทางน้ำตลอดลำห้วยหลวงไปจนถึง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อค้นหาจุดขวางทางน้ำและเก็บข้อมูลน้ำท่วมครั้งนี้ไปประกอบการศึกษาแผนป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง เบื้องต้นมีแนวคิดสร้างทางระบายน้ำให้ลำห้วยหลวงเพิ่มอีกเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงเร็วขึ้น
นายกฯห่วงชาวเมืองดอกบัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chon-o-cha แสดงความห่วงใยประชาชน จ.อุบลราชธานี ที่กำลังประสบอุทกภัยว่า “ผมขอให้พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์มวลน้ำจำนวนมากที่จะไหลผ่าน อ.เมืองอุบลฯ ในวันที่ 13 ก.ย.ครับ โดยระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขอให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง หากต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อสายด่วน 1784 ขอให้ทุกคนปลอดภัยครับ”
ตั้ง “บิ๊กตู่” คุมวอร์รูมแก้วิกฤติน้ำ
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบกรอบโครงสร้างการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (วอร์รูม) เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการมวลน้ำ อย่างเป็นระบบ
สอดคล้องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ประกอบด้วย 1.ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองผู้บัญชาการ และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุม สั่งการ บัญชาการ และอำนวยการแก้ไขวิกฤติน้ำ และ 2.กองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลขาธิการ สทนช. เป็นรองประธาน และรองเลขาธิการ สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่อำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลและสรุปข้อมูลประกอบการตัดสินใจของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และบูรณาการบริหารจัดการวิกฤติน้ำ
คาด 20 วันระบายน้ำอุบลฯหมด
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมอีสาน โดยเฉพาะที่ จ.อุบลราชธานี คาดว่าน้ำที่ไหลผ่านสะพานเสรีประชาธิปไตยเร็วขึ้นและจะเร่งระบายน้ำและพร้อมติดตั้งเครื่องดันน้ำที่ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.โขงเจียม คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 20 วันจะระบายน้ำได้หมด คาดว่าประชาชนจะเริ่มกลับเข้าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้ปกติประมาณวันที่ 27 ก.ย.นี้ โดยปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งจะเริ่มกลับเข้าไปอยู่ในตลิ่งได้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำจะแห้ง ไปหมด เพราะจะมีการผันน้ำไปจัดเก็บไว้ในเขื่อนหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติและแก้มลิงที่เตรียมไว้
เคาะ 3 โครงการยักษ์แก้น้ำท่วม
เลขาธิการ สทนช.กล่าวอีกว่า ส่วนผลการประชุม กนช.เห็นชอบ 3 โครงการขนาดใหญ่วงเงินกว่า 18,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างเพื่อการพัฒนาปี 2561 ของการประปาส่วนภูมิภาค 6 โครงการ วงเงินงบประมาณ 11,000 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นจะผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น 332,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรีจากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2564-68) วงเงิน 6,130 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งธนบุรี และ 3.โครงการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จะเป็นการเพิ่มศักยภาพคลองระบายน้ำ D1 จากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่อ่าวไทยได้เร็วขึ้น ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2564-68) ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
ทุ่ม 3.1 แสนล้านจัดการน้ำปี 63
นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2563 ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน จำนวน 57,975 โครงการ วงเงินกว่า 310,000 ล้านบาท ที่กระจายลงทุกภาคทั่วประเทศ และรับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญ ปี 2562 ที่รัฐบาลใช้งบกลางกว่า 19,000 ล้านบาท เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มต้นทุนน้ำจำนวน 144 โครงการ โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่กระจายให้ทุกจังหวัด แก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
สธ.เร่งป้องกันน้ำท่วม รพ.ใหญ่
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการแต่ละเขตเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม พร้อมให้ประเมินความเสียหายที่เกิดกับสถานพยาบาลเพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที ที่ผ่านมามีการขอยาเวชภัณฑ์เข้ามา ส่วนกรณีที่มีผลกระทบกับสถานพยาบาลจะใช้งบประมาณเหลือจ่ายของกระทรวงจัดส่งลงไปช่วย ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี ขณะนี้พยายามป้องกัน รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนและผู้ป่วยได้ พยายามดูแลทุกโรงพยาบาล มีบางที่ในหลายจังหวัดต้องปิดให้บริการ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนการดูแลสภาพจิตใจของประชาชน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้สั่งการให้เข้าดูแลด้านจิตใจของประชาชนในพื้นที่