ที่ผ่านมามีการวิจัยมากมายใช้วัสดุธรรมชาติมาทำพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทดแทนพลาสติกต้นตอก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง...ผัก ผลไม้หลายชนิดถูกนำมาเป็นวัตถุดิบ แต่ท้ายที่สุดพลาสติกชีวภาพ ก็ยังไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 2-3 เท่า

งานวิจัย รศ.ดร.แคทลียา ปัทมพรหม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (TSE) และทีมนักศึกษา มุ่งทำพลาสติกชีวภาพให้มีราคาถูกลง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนทั่วไปหันมาใช้มากขึ้น โดยนำวัตถุดิบจากพืชเศรษฐกิจหลักที่มักเกิดภาวะราคาผันผวนค่อนข้างบ่อย อย่างอ้อย มันสำปะหลังและยางพารา ถือเป็นอีกแนวทางอุดหนุนเกษตรกรยามราคาตกต่ำได้อีกทาง

ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้จากพลาสติกชีวภาพผสมยางธรรมชาติ Biodegradable Packaging Film from Bio-Plastic and Natural Rubber ยังถือเป็นครั้งแรกของการนำยางพารามาประสานเข้ากับวัตถุดิบอื่นได้สำเร็จ

เพราะพลาสติกชีวภาพเดิมมีปัญหาเรื่องการขึ้นรูปยาก เปราะบาง ต้องอาศัยส่วนผสมอื่น ช่วยเรื่องความยืดหยุ่น แม้มีงานวิจัยหลายชิ้นใช้ยางพารามาผสม แต่ก็ยังไม่ได้สูตรสำเร็จลงตัว สุดท้ายต้นทุนก็ยังคงสูงอยู่ดี

ด้วยยางพารามีราคาถูก มีความยืดหยุ่นสูง ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติไม่ต่างจากซากพืชซากสัตว์ทั่วไป ทำให้ลดช่องว่างเรื่องของราคาพลาสติกชีวภาพต่ำลงมา จากเดิมแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 2–3 เท่า ลดมาเหลือแพงกว่า 20–30%

ปัจจุบันทีมวิจัยเตรียมนำมาทำเป็นถุงบรรจุภัณฑ์ทั่วไป ถุงขยะ ถุงเพาะปลูกทางการเกษตร และอยู่ระหว่างวิจัยต่อยอดให้ใช้งานในลักษณะสัมผัสกับอาหารได้โดยตรง และใช้ยืดอายุผักผลไม้.

...