ชักชวนให้เกษตรกรปลูกฝ้าย เป็นต้องร้องยี้ปฏิเสธกันแทบทุกคน
ทั้งที่ฝ้ายเป็นพืชสำคัญ 1 ในปัจจัย 4 เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องนุ่งห่มที่เราใช้สอยล้วนต้องพึ่งพาฝ้ายทั้งสิ้น และอุตสาหกรรมสิ่งทอบ้านเรามีความต้องการใช้ฝ้ายมากถึงปีละ 400,000 ตัน แต่เราผลิตได้ไม่ถึง 1% ต้องพึ่งพาฝ้ายนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นหลัก
และทั้งที่ก่อนหน้านี้ ฝ้ายถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย แต่มาระยะหลังนับแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ฝ้ายค่อยๆเลือนหายไปจากวิถีชีวิตเกษตรกรไทย ด้วยขณะนั้นบ้านเรามีพื้นที่ปลูกฝ้ายมากถึง 1 ล้านไร่
เป็นธรรมชาติของพืชที่มีการปลูกมากขนาดนั้น มักจะเชิญชวนแมลงศัตรูพืชยกพลมาลงแขกทำลาย ส่งผลให้เกษตรกรต้องฉีดพ่นสารกำจัดหนอนแมลงมากถึงปีละ 10-14 ครั้ง ต้นทุนสูง เกษตรกรรับไม่ไหว การปลูกฝ้ายเพื่อป้อนอุตสาหกรรมสิ่งทอแทบจะหมดไปจากบ้านเรา...แต่ก็ยังพอมีปลูกกันบ้างในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกประปรายในพื้นที่เล็กๆเพื่อป้อนงานหัตถกรรมถักทอของกลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชน
...
“ถึงใครจะมองว่าฝ้ายเป็นพืชที่ไม่น่าปลูก เพราะมีแมลงศัตรูพืชค่อนข้างมาก ต้องฉีดพ่นสารเคมีบ่อย แต่ฝ้ายยังเป็นพืชที่มีอนาคต ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ใช่น้อย ถ้ารู้จักวิธีจัดการให้ถูก นั่นคือปลูกด้วยใจ ปลูกในพื้นที่แค่ 1 งาน ก็เพียงพอแล้ว เพื่อเราจะได้ใส่ใจดูแลฝ้ายได้อย่างทั่วถึง จัดการกับแมลงได้ด้วยตัวเองแทบไม่ต้องพึ่งสารเคมี”
ดร.ปริญญา สีบุญเรือง นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร ผู้มีประสบการณ์เรื่องฝ้ายมากกว่า 30 ปี เจ้าของรางวัลนักปรับปรุงพันธุ์พืชดีเด่น ประจำปี 2562 สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย ให้มุมมองอีกด้านของฝ้ายที่เกษตรกรหลายคนมองข้าม
ปลูกแค่ 1 งาน หลายคนอาจจะมองว่าน้อยไป จะพอเลี้ยงชีพได้อย่างไร ดร.ปริญญา บอกว่า พื้นที่แค่นี้ปลูกฝ้ายได้ 500 ต้น ดูแลด้วยใจ สามารถให้ผลผลิตเป็นปุยฝ้ายได้มากถึง 150 กก. (ต้นละ 300 กรัม)
ทอเป็นผืนผ้าขนาด 5 ตร.ม. ได้ 30 ผืน ถ้าทอเป็นลายสวยๆขายได้ผืนละ 1,200 บาท
...
“ช่วยทำรายได้ให้กลุ่มทอผ้าซิ่นในจังหวัดมุกดาหารคนละ 12,000-18,000 บาทต่อเดือน นี่เฉพาะรายได้จากการทอผ้าฝ้ายปลูกเองจากฝ้ายสีขาว แต่ถ้าเป็นผ้าทอที่มาจากฝ้ายพันธุ์ใหม่ๆ ฝ้ายสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม สีเขียว รายได้จะเพิ่มมากกว่านี้ขึ้นไป 2-3 เท่าตัว เพราะเป็นฝ้ายสีธรรมชาติ ไม่ต้องย้อมสีสารเคมีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะตลาด นีชมาร์เก็ต”
เห็นรายได้แล้วอยากปลูกบ้าง แต่ถ้าคิดหวังแค่ปลูกขายเป็นปุยฝ้ายชั่งกิโล ดร.ปริญญาแนะให้หยุดฝัน เพราะไม่มีทางจะมีรายได้มากขนาดนั้น...ต้องปลูกแบบรู้จักแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ครบวงจร นั่นแหละถึงจะอยู่รอดได้แบบมีอนาคต.
ชาติชาย ศิริพัฒน์