ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2470 ณ วังเพชรบูรณ์ เป็นบุตรคนโตของหม่อมเจ้าเฉลิมศรี สวัสดิวัตน์ และหม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ เติบโต ณ วังสระปทุมตั้งแต่เล็กจนโตจึงย้ายมาอยู่ ณ วังศุโขทัย

ตลอดระยะเวลาได้เรียนรู้ ได้รับการอบรม บ่มนิสัยให้ประพฤติปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณีภายในวังอย่างเคร่งครัดในทุกๆเรื่อง ทำให้ได้รับทราบเรื่องราวต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปะการแสดง การดนตรี พิธีกรรมต่างๆ ทุกครั้งที่มีการจัดแสดงในโอกาสต่างๆจะมีส่วนร่วมเสมอ

ระหว่างศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี ในการเรียนวิชาดนตรีจะได้รับมอบหมายให้ร่วมขับร้องเพลงไทยด้วยทุกครั้ง เพราะเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยได้ดีและไพเราะ อีกทั้งยังได้เป็นลูกศิษย์ของคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ด้วย

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ฉายแววมีผลงานตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยใจรักการร้องเพลงเป็นอย่างยิ่ง บันทึกประวัติในช่วงอายุได้ 14 ปี เขียนไว้ว่า...ได้แอบพายเรือหนีออกจากวังสระปทุมไปประกวดร้องเพลงในงานภูเขาทอง โดยใช้นามแฝงว่า “ป.ปทุมวัน” ส่วนเพลงที่ร้องจำชื่อไม่ได้ แต่เป็นเพลงที่ดังมากในสมัยนั้น

เวทีนี้...ได้รับรางวัลชนะเลิศรุ่นเล็ก มีถ้วยรางวัลและเงิน 5 บาท

ระหว่างศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกจัดตั้งวงดนตรีสมัครเล่น เพื่อหาเงินช่วยค่าอาหารกลางวันแก่เพื่อนนักเรียนที่ยากจน เพลงที่ขับร้องเป็นของคุณครูล้วน ควันธรรม, ครูนารถ ถาวรบุตร จากการตั้งวงครั้งนี้ทำให้ คุณอาภรณ์ กรรณสูต (ภรรยาครูเอื้อ สุนทรสนาน) เพื่อนนักเรียนร่วมมหาวิทยาลัยเป็นผู้บริจาคเงินเป็นประจำ จนคุณชายเรียกเพื่อนรุ่นพี่คนนี้ว่า...“พี่หนู”

...

ครูเอื้อได้ฟังเรื่องราวคุณชายจากภรรยารู้ว่า...ร้องเพลงได้ไพเราะมาก ต้องการรู้จักจึงมอบให้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ไปพบ ทดลองฟัง...ปรากฏว่าใช้ได้ บังเอิญว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยปิดคุณชายเลยมีโอกาสคลุกคลีอยู่ใน “วงสุนทราภรณ์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วันเวลาผ่านไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้น ปี 2485 ก็ได้มีผลงานขับร้องเพลงตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักร้องหลังม่านวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่โรงหนังโอเดียนคู่กับชวลีย์ ช่วงวิทย์

คุณชายขับร้องได้ไพเราะมาก และยังขยับขยายเพิ่มเติมประสบการณ์ด้วยการเดินทางไปแต่งเพลงในที่ต่างๆ เช่น ลงเรือจ้างล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ประพันธ์คำร้องเพลง “เจ้าพระยา”

คุณชายถนัดศรีมีเทคนิคการร้องดีเยี่ยม ไม่ว่าการเอื้อน...เสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คนอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ จนครูเพลงหลายๆท่านชื่นชม เชื่อในฝีมือการขับร้องอย่างกว้างขวาง ทั้งยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้คอยแนะนำเทคนิคการร้องเพลง การเอื้อน การออกคำ ตลอดจนการถอนหายใจแก่นักร้องรุ่นน้อง

ยกตัวอย่างเช่น รวงทอง ทองลั่นธม และอีกหลายๆคนที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการขับร้องเพลง ที่ต่างยกย่อง ชื่นชมคุณความดีของคุณชายหม่อมเป็นอย่างยิ่ง

ปี 2551 ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (สาขาดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ผลงานสร้างชื่อเสียง อาทิ ยามรัก, หวงรัก, รสตาล, สวรรค์ค้าง, อย่าเกลียดบางกอก, เพลงแห่งความหลัง ผลงานเพลงลูกกรุง...อาทิ สาวตางาม, สาวท้องนา, แล้งในอก, เว้าสาวอีสาน, คู่แล้วไม่แคล้วกัน, แสนงามแสนงอน, วนาสวาท, สีชัง, พรานเบ็ด, ทะเลระทม, ทำไมหนอ

บทเพลง “ยามรัก” ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ครูวังสันต์

ยามเช้า...พี่ก็เฝ้าคิดถึงน้อง ยามสาย...พี่หมายจ้องเที่ยวมองหา ยามบ่าย...พี่วุ่นวายถึงกานดา ยามเย็น...ไม่เห็นหน้าผวาทรวง

*ค่ำนี้...พี่จะมีใครเคียงข้าง หนาวน้ำค้าง...เหน็บจิตให้คิดห่วง พี่ก็หนาว...น้องคงหนาวนอนร้าวทรวง โอ้พุ่มพวง...อย่าให้รอถึงเช้าเลย

น่าสนใจว่า...นอกจากจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางการขับร้องเพลงที่โดดเด่นมากที่สุดแล้ว ยังมีชื่อเสียงมากในเรื่องการชิมอาหาร จัดรายการวิทยุจนมีชื่อเสียงโด่งดัง...

อาจจะเรียกได้ว่าดังมากๆยิ่งกว่าเป็นนักร้องเสียอีก

กว่า 50 ปีภายใต้โลโก้ “เชลล์ชวนชิม” สัญลักษณ์ที่เสมือนเป็นตรารับประกันความอร่อย คุณภาพ บริการที่ดี โดยมี ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ คุณชายนักชิมเป็นผู้รับรองร้านอาหารติดดาวเหล่านี้น่าจะมีกว่า 2,000 ร้าน ไล่เรียงกันตั้งแต่ร้านข้างทางไปจนถึงภัตตาคารหรู

...

เรียกว่าร้านไหนได้ตรา “เชลล์ชวนชิม” จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่กว่าจะได้มานั้นก็ไม่ใช่ว่าจะง่าย ใบการันตีรับรองความอร่อยนี้...ไม่มีการซื้อขาย แค่คุณชายลองชิมแล้วถูกใจก็รับไปเลย

มาตรฐานระดับคุณชายถนัดศรีการันตีนั้นย่อมไม่ธรรมดา คุณชายฯ กล่าวไว้ว่า...“คนชิมต้องทำอาหารเป็น ถ้าทำไม่เป็นแล้วจะไปวิจารณ์แนะนำถูกได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นของฟรีแล้วอะไรก็อร่อยหมด”

...ทุกคนกำลังบ้าหวาน เอะอะอะไรก็ใส่น้ำตาล อันที่จริงแล้วน้ำตาลเป็นแค่ตัวจับเครื่องปรุงรสเท่านั้น แต่เวลานี้ทำอาหารหวานหมด ขนาดกะทิยังใส่น้ำตาล แม้แต่เครื่องแกงก็ไม่มีใครทำเอง ทุกคนซื้อจากที่เขาทำขายหมด ถามว่าแกงเผ็ดกับแกงคั่วต่างกันอย่างไร...แน่นอนแกงคั่วต้องใส่ปลาย่าง

“ถ้าจะหาร้านอาหารที่ประทับใจที่สุดคงบอกไม่ได้ เพราะแต่ละร้านย่อมมีของดี ความอร่อยเป็นเรื่องคงที่ แต่รสชาติอาหารแตกต่างกันไป ถ้าที่ไหนอร่อยก็จะตามไปหามาให้ได้ ต้องรู้ถึงวิธีการทำอย่างไร ไม่ใช่ให้การรับรองโดยไม่ได้ไปกินเอง”

ตัดตอนมาจากบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2552 กล่าวถึงคุณชายสุดยอดนักชิมเมืองไทย ที่รู้ว่าอะไรอร่อย...ไม่อร่อยนั้น คุณชายคุยให้ฟังว่า เพราะเกิดในวังอยู่ในวังเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง อาหารคำแรกก็อยู่ในวัง เพราะฉะนั้นจะได้ลิ้มรสอาหารไทยแท้ที่ถูกต้อง และที่สำคัญ...รู้วิธีทำด้วย

“ธรรมชาติเป็นคนช่างอยากรู้ อยากเห็นและจำแม่น อย่างถ้าแกงเขียวหวานคืออะไร ต้องเข้าไปดูเลยว่าแกงเขียวหวานทำยังไง...เป็นอย่างไร ดูแล้วศึกษา พอโตมาก็อยู่ในแวดวงข้าราชสำนัก คราวที่ไปต่างประเทศก็ไปอยู่กับพวกพระญาติ เพราะฉะนั้นเมื่อไปกินอาหารต่างชาติก็กินอาหารชั้นสูงชั้นดีอีก เป็นของที่สุดยอดของเขาอยู่แล้ว...ถึงมีเงินก็เป็นอย่างนี้ไม่ได้...แต่ถ้าใครมาถามก็บอกก็สอนเคล็ดลับให้นะ”

...

“อาหารไทย” ต้องมีรสชาติประจำตัว แล้วแต่อาหารแต่ละประเภท อย่าง...ต้มยำเดี๋ยวนี้ใส่ทั้งพริกทั้งมะนาว แล้วคนไปพูดว่าต้มยำต้องแซ่บๆ...ไม่ใช่ ใบมะกรูดต้องใส่ตอนทำเสร็จไม่ใช่เอาไปต้มตั้งแต่แรก สุกแล้วยกมาปุ๊บถึงฉีกโรยใส่เพราะเขาต้องการน้ำมันหอมระเหย...เพราะความไม่รู้ก็ไปตามอย่างกัน

เมื่อถามถึงอาหารโปรดของคุณชายสุดยอดนักชิม ม.ร.ว.ถนัดศรี บอกว่า เราบอกได้เพราะรู้หมด กินมาหมด และทำอาหารเป็น สมัยก่อนตอนอายุยังไม่มากขนาดนี้ ชอบกินข้าวมันไก่ที่สุดและเป็ดทุกชนิด เป็ดพะโล้ เป็ดย่าง เป็ดปักกิ่ง และสเต๊ก เครื่องในกินเป็นหม้อๆเป็นของชอบ แต่...พออายุมากหมอให้งดพวกสัตว์ปีก

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ชื่อนี้ยังคงเป็นสุดยอดหนึ่งในตำนาน “คุณชายนักชิม”...ที่ยังคงเป็นที่จดจำไปอีกนานเท่านาน.