เตือนมนุษย์จะเป็นส่วนเกิน แต่มี 5 สิ่งที่หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ไม่ได้ หมอสุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม เตือนรู้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง การศึกษาต้องพัฒนาคนให้มีจินตนาการ คุณธรรม จิตสำนึก สายใยรักผูกพัน และศรัทธา
ในงานการจัดอบรมสัมมนา ผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 190 โรงทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ร่วมกับมูลนิธิไทยรัฐ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. 2562 ภายใต้หัวข้อ “ไทยรัฐวิทยากับการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้ อาทิ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช รองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล บรรยายเรื่อง “ไทยรัฐวิทยากับการเรียนรู้สู่การปลี่ยนแปลง” การบรรยายของคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) บรรยายเรื่อง “โรงเรียนไทยรัฐวิทยา โรงเรียนสอนคนดีมีคุณธรรม”
...
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.ค. รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ได้บรรยายถึงสถานการณ์โลกที่หุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ และพิจารณาว่าระบบการศึกษาของไทยพร้อมพัฒนาเด็ก เพื่อเติบโตและรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
จากการที่ได้ไปรวมงานประชุมระดับโลกที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนักจิตวิทยาทั่วโลกมาร่วมประชุม ตอนเริ่มต้นของการประชุม มีองค์ปาฐกคู่หนึ่งขึ้นเวที หน้าตาเหมือนกัน คนหนึ่งคือมนุษย์ และคนหนึ่งคือหุ่นยนต์ และมีคำพูดท้าทายว่า โลกกำลังจะเกิดสังคมหุ่นยนต์ และมนุษย์คือส่วนเกิน อย่างที่โยโกฮามา กำลังสร้างสมาร์ทซิตี้ มีสังคมหุ่นยนต์ เพื่อทดแทนมนุษย์ในการทำงาน และการทำหน้าที่หลายอย่างแทนมนุษย์ ตั้งแต่ครูอนุบาลสอนเด็ก ไปจนถึงพริตตี้ มอเตอร์โชว์
นักจิตวิทยาทั่วโลกได้ถกถึงสิ่งที่ว่า แม้มีเทคโนโลยีพัฒนาไปมากอย่าง 5G ที่กำลังมาถึง AI ที่ทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ แต่มี 5 สิ่งที่หุ่นยนต์จะทำแทนไม่มนุษย์ไม่ได้ ดังนี้
1.จินตนาการเหนือวิชาความรู้ คำกล่าวนี้ ไอนสไตน์ เคยพูดไว้นาน และเป็นอมตะ
2.คุณธรรม และจริยธรรม และความเอื้ออาทร
3.จิตสำนึก
4.สายใยรักและความผูกพัน ระหว่างแม่และลูก
5.ศรัทธาในอาชีพ ใจเกินร้อย อย่างเช่น นักกีฬา ไม่ว่าแพ้หรือชนะ อยู่ที่ศรัทธา คือการศรัทธาต่อวิชาชีพของตัวเอง
...
ทุกวันนี้ระบบของผู้ใหญ่บางคน กำลังหยุดยั้งลูกหลาน ให้ไม่สนใจ 5 ข้อนี้ ทั้งที่เด็กคิดอยากทำ เช่น ลูกมีจิตสำนึก คิดอยากช่วยขับรถให้แม่เมื่อโตขึ้น แต่แม่หันมาเบรกลูกว่า คิดอะไร หรือลูกอยากช่วยพ่อกวาดบ้าน แต่แม่บอกว่าให้ไปอ่านหนังสือ เพราะอยู่ในระบบที่การศึกษามีการแข่งขันตั้งแต่เด็ก อย่างการสอบเข้า ป.1
...
มีสถิติที่มีพาเด็กวัยรุ่นมารักษา 100 เคส มี 50 เคสที่ต้องรักษาคนที่พามาคือพ่อแม่ และอีก 25 เคสต้องไปรักษาคนส่งมา คือ โรงเรียน ปัจจุบันพยายามลูกมีทักษะหลากหลาย มีพหุปัญญา นั่นคือฝึกให้เป็นหุ่นยนต์ แต่ไม่ได้ฝึกเรื่องจิตสำนัก ดังนั้นในปัจจุบันที่เด็กเปลี่ยนแปลงไปมาก ในเจเนอเรชั่นอัลฟ่า ครูจึงมีหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่วิชาความรู้ที่หาได้ไนกูเกิล ยูทูบ แต่ครูต้องมีหน้าที่นักเหลาความคิด ฝึกให้เด็กสามารถรับมือจัดการแก้ปัญหาได้ เหมือนอย่างที่ต่างประเทศเตรียมพร้อม อย่างที่ญี่ปุ่น
...
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว กล่าวย้ำว่าเท่าที่พบเด็กในขณะนี้ ลูกทุกคนมีจิตสำนึก แต่คำถามตอนนี้คือผู้ใหญ่ และการศึกษา ได้สร้างระบบการพัฒนามนุษย์มวลมนุษย์ชาติ ให้ดำรงไว้ซึ่งจินตนาการ จิตสำนึก คุณธรรม สายใยรัก และศรัทธา หรือไม่ ซึ่งสิ่งทำได้ทันที คือทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ตนเอง ไปจนถึงการตกลงร่วมกัน ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อนำทั้งองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีคุณธรรม และเป็นโรงเรียนต้นแบบคุณธรรมในที่สุด