มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมนำพระราชดำริของในหลวง ร.9 พัฒนาชุมชนในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ เป็นตัวอย่างความสำเร็จ 60 ชุมชน สร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ รวม 1,573 หมู่บ้าน... เป็นตัวอย่างความสำเร็จขยายผลสู่ชุมชนอื่น กระทั่งพัฒนาไปเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 20 ของมูลนิธิ

“ชุมชนบ้านตูม แม้จะอยู่ติดแม่น้ำชี แต่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก และน้ำท่วมมานานกว่า 50 ปี กระทั่งปี 2551 ชุมชนจึงได้จัดตั้งผ้าป่าร่วมกันขุดคลองไส้ไก่ (คลองดิน) และองค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้ำใส สนับสนุนให้ขุดขยายคลองไส้ไก่ 3 สาย ระยะทางรวม 2,040 เมตร เพื่อให้สามารถส่งกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรได้มากขึ้นจากเดิม 200 ไร่ เป็น 1,300 ไร่ ก่อให้เกิดความยั่งยืนมาจนปัจจุบัน”

นางอมรรัตน์ ตรีแสน ประธานคณะกรรมการเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำบ้านตูม ต.กุดน้ำใส อ.ค้อวัง จ.ยโสธร บอกถึงที่มาของการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านจนพัฒนาสู่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน

...

หลังจากขุดคลองไส้ไก่ ชุมชนได้เรียนรู้การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมไปถึงการบริหารจัดการต่างๆจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถแก้ปัญหา ฟื้นฟูแหล่งน้ำด้วยการเชื่อมโครงสร้าง และขุดลอกสระเป็นระดับ เพื่อกักเก็บน้ำและดักตะกอน ก่อนส่งเข้าสู่อ่างเก็บน้ำหนองกุดน้ำใส

นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนที่ผังน้ำ รวมถึงร่วมกันสำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ วางแผนบริหารจัดการน้ำ ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และจัดทำข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ร่วมกันดูแลรักษาและบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับภูมิสังคม พัฒนาฟื้นฟูและเชื่อมโยงแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ ขยายสระน้ำแก้มลิงสำรองน้ำ

มีการเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ อนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน ดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน คนในชุมชนกลับคืนบ้านเกิด ครอบครัวอยู่พร้อมหน้า มีความสุข และถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

ผลจากการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องของทุกภาคส่วน ทำให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ทั้งระบบปีละ 763,786 ลบ.ม. ใช้ทำการเกษตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 523 ไร่ ครอบคลุม 2 หมู่บ้าน ในตำบลกุดน้ำใส และใช้เป็นน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาชุมชนสำหรับราษฎร 309 ครัวเรือน

นอกจากนี้ยังมีระบบสระพวง เชื่อมต่อแหล่งน้ำ ฟื้นฟูโครงสร้างน้ำเดิม เชื่อมต่อคลองส่งน้ำและคลองไส้ไก่ รวม 7 สาย ระยะทางรวม 5,500 เมตร ดักน้ำหลากเข้ากักเก็บยังสระน้ำสาธารณะและสระน้ำประจำไร่นา 40 สระ และเชื่อมต่อสระพวงทั้งหมดเข้าสู่อ่างเก็บน้ำหนองกุดน้ำใส สามารถเพิ่มปริมาณน้ำทั้งระบบได้ 5.2 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการฟื้นฟูสระหนองอีสาน-เขียววัดป่า พื้นที่ 8 ไร่ สร้างเป็นสระเก็บน้ำให้ชุมชนใช้ทำการเกษตรช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา

...

พร้อมกับให้เกษตรกรเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ วางแผนการผลิต เรียนรู้การปลูกพืชหลังนา เช่น แตงโม ถั่วพร้า ปอเทือง ในพื้นที่เดียวกันให้สอดคล้องกับเกษตรวิถีเดิม มีผลผลิตและรายได้ตลอดทั้งปี จนปัจจุบันมีเกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนและแบ่งปัน เหลือก็แบ่งขาย จำนวน 265 ครัวเรือน เพิ่มรายได้รวมกว่าปีละ 9.2 ล้านบาท.

กรวัฒน์ วีนิล