นักประวัติศาสตร์ไทย มีความพยายามค้นคว้า ไขปริศนาเรื่องราว “เขตหลักสี่ของกรุงเทพมหานคร” ถูกเรียกขานติดปากมายาวนาน จนมีคำตอบแน่ชัดว่า “หลักสี่” แท้จริงคือ หลักเสาบอกระยะทางเส้นทางคมนาคมทางน้ำของ “คลองเปรมประชากร” และถูกใช้เป็นชื่อเขตต่อมาจนถึงวันนี้...

ไม่ใช่เป็นหลักกิโลเมตรบอกระยะทางบกหรือทางรถไฟ ตามที่มีความเข้าใจต่อกันมา และยังมีอีกหลายหลักเสา ถูกปักมาตั้งแต่หลักเสาที่ 1- 13 เริ่มต้นที่ทำเนียบรัฐบาล คลองผดุงกรุงเกษม ยาวไปสิ้นสุดสถานีสูบน้ำบางปะอินเหนือบริเวณ ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา...

และหลักสี่ รวมถึงหลักอื่นอีก 12 หลักนั้น เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา...

เวลาผ่านมายาวนาน...หลักเสานั้นหักเสียหายหมด คงเหลือเพียงชื่อ “หลักสี่ และหลักหก”

มีการสืบค้นจาก เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์ไทย ให้ข้อมูลว่า อดีตคลองมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนสยาม ทั้งด้านประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ คมนาคม การขนส่งสินค้า และการค้าขาย รวมถึงการเกษตร อุปโภคบริโภคของคนริมสองฝั่งคลอง ทำให้การขุดคลอง มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์...

กระทั่งในยุครัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการ ขุดคลองเปรมประชากร เพื่อเป็นคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน

ทำให้เชื่อมกับ “คลองผดุงกรุงเกษม” หน้าวัดโสมนัสราชวรวิหาร ที่ได้ขุดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้ทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

ในการนี้รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 2,544 ชั่ง 2 ตำลึง หรือประมาณ 203,520 บาท ในการขุดทั้งหมด

...

ที่มีพระราชประสงค์ในการย่นระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เพราะเส้นทางเดิมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นทางน้ำอ้อม วกเวียนใช้เวลาเดินทางนาน ประกอบกับเป็นการขยายพื้นที่การทำนาริมสองฝั่งคลอง เดิมพื้นที่แถบนี้เป็นป่ารกเต็มไปด้วยโขลงช้างป่า ไม่มีใครไปบุกเบิกถากถาง

อีกทั้ง ยังเป็นการให้ประชาชน ได้มีความสะดวกสบาย ทั้งด้านการทำมาค้าขาย และการสัญจรไปมาทางน้ำ และให้ประชาชนเป็นแหล่งอาศัยสองฝั่งคลอง เพื่อทำการเพาะปลูกอีกด้วย

และโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุด เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชาย เป็นแม่กอง และให้พระชลธารวินิจฉัย (กัปตันฉุน) ผู้ปักหมายกรุยแล้วจ้างจีนในการขุดคลองเปรมประชากรครั้งนั้น

เพราะคนจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศสยามจำนวนมาก และมีความขยันชำนาญการขุดเจาะอย่างมาก ที่ประสงค์หารายได้อยู่แล้ว ส่วนคนสยามชอบทำการเกษตร และถูกเกณฑ์ทำงานอย่างอื่นแทน

เริ่มการขุดตั้งแต่จุดเชื่อมคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งปักหลักเสาที่หนึ่ง บริเวณทำเนียบรัฐบาล หลักที่สอง บริเวณสถานีสูบน้ำบางซื่อ เขตบางซื่อ หลักที่สาม บริเวณชุมชนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร หลักที่สี่ บริเวณวัดหลักสี่ หรือชุมชนหลักสี่ เขตหลักสี่ หลักที่ห้า ชุมชนดอนเมือง เขตดอนเมือง

ถัดมาหลักที่หก วัดรังสิต ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี หลักที่เจ็ด วัดเปรมประชากร ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี หลักที่แปด บริเวณศูนย์พัฒนาเด็ก แยกคลองบางสิงห์ ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี หลักที่เก้า บริเวณวัดเวฬุวัน ต.บางพูด อ.เมือง จ.ปทุมธานี หลักที่สิบ บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย (ธรรมศาสตร์ รังสิต) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

หลักที่สิบเอ็ด บริเวณวัดโพธิ์นิ่มรัตตาราม (วัดคลองขุด) ต.เชียงรากน้อย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หลักที่สิบสอง บริเวณวัดเปรมประชากร ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี และหลักที่สิบสาม ถูกตั้งอยู่ที่บริเวณสถานีสูบน้ำบางปะอินเหนือ ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา...

สิ่งน่าสนใจอยู่ตรง...ที่มีการใช้ปืนใหญ่ ตั้งฉากให้มีระดับตรง และยิงปืนตลอดเส้นทางขุดคลอง ในการวัดระยะทางให้เป็นเส้นตรง หากลูกปืนใหญ่ตกตรงจุดใด ก็ให้ขุดไปยังลูกปืนตกลงตรงจุดนั้น...

ทว่า...ตั้งแต่หลักเสาที่หนึ่ง...ถึงหลักที่สิบสาม แต่ละหลักห่างกัน 100 เส้น หรือ 4 กม. เป็นระยะทาง 1,271 เส้น หรือ 50,846 เมตร หรือ 50.846 กม. ความกว้าง 5 วา หรือประมาณ 10 เมตร

ดำเนินการขุดมาตั้งแต่ พ.ศ.2412 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2413 รวมใช้เวลา 18 เดือน ถือเป็นคลองขุดสายแรกของรัชกาลที่ 5 และโปรดฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองคลอง มีมหรสพต่างๆมากมาย

และพระราชทานชื่อว่า คลองเปรมประชากร จนถึงปัจจุบันนี้

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือได้ว่า เป็นยุคที่มีการขุดคลองมากที่สุด มีทั้งขุดลอกคลองเก่า และขุดคลองใหม่ ในอีกมากมายหลายสาย

อาทิ คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ คลองอุดมชลจร คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา คลองนราภิรมย์ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองประปา และคลองแยกอีกหลายคลอง ในการใช้เป็นเส้นทางคมนาคมให้กับประชาชน และลำเลียงสินค้ามีความสะดวกขึ้น

...

เอนก เท้าความให้เห็นถึงการสร้างปักหลักเสา หรือเครื่องบอกระยะริมคลองว่า ยังไม่แน่ใจ หลักเสา หรือเครื่องบอกระยะริมคลอง เกิดขึ้นในสมัยใด แต่พบหลักฐานชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4

ยกตัวอย่าง...คลองมหาสวัสดิ์ มีการขุดเสร็จสิ้นเมื่อปี 2403 สร้างศาลาริมคลองไว้ทุก 100 เส้น หรือทุก 4 กม. ให้คนเดินทางได้พักผ่อน ก่อนศาลานี้ถูกรื้อทิ้งหมดในเวลาต่อมา และคงเหลือไว้ชื่อศาลาบางหลัง ศาลายา และศาลาทำศพ ที่แผลงเป็นศาลาธรรมสพน์ ปัจจุบันนี้

ซึ่งยังมีการค้นพบหลักเสาศิลาหินแกรนิต บริเวณคลองภาษีเจริญ หน้าวัดหลักสาม จำนวน 1 หลัก และหลักเสาคลองดำเนินสะดวก 1 หลัก ในหลักนั้นมีการจารึกเป็นเลขไทย โรมัน จีน ไว้ด้วย

ย้อนกลับมาที่...คลองเปรมประชากร รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปักหลักเป็นเครื่องหมายทุก 100 เส้นเช่นกัน ไปจนสิ้นสุดทางคลองเปรมประชากร แต่เวลาผ่านมานานทำให้หลักเสาเหล่านั้นทยอยหักเสียหายไปทีละเล็ก...ทีละน้อย หรืออาจจมอยู่ในคลอง

คงเหลือเพียงชื่อหลักสี่ และหลักหก จนมาถึงยุคมีการก่อสร้างรถไฟ และมีการตั้งสถานีรถไฟ จึงนำเอาชื่อหลักสี่กับหลักหก มาตั้งเป็นสถานีขึ้น และใช้เรียกชื่อชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้...

กระทั่งปี พ.ศ.2445 เคยมีการออกค้นหาหลักเสาริมคลองเปรมประชากร แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าหลักเสาทำด้วยหินหรืออะไร แต่เข้าใจเอาเองว่า ทำด้วย “ศิลาหินแกรนิต” เหมือนหลักเสาริมคลองดำเนินสะดวก

แม้แต่หลักฐานแสดงถึงการบ่งบอกตำแหน่งหลักเสาก็ระบุไม่ได้เลยว่า เคยอยู่ที่ตรงจุดไหนกันแน่ แต่ตามหนังสือเกี่ยวกับคลองเปรมฯ ระบุว่า มีการสร้างปักหลักเสาไว้แน่นอน

กระนั้นวิธีหาหลักเสาก็สามารถทำได้ไม่ยาก ต้องกำหนดจุดจากปากคลองเปรมฯ ตรงข้ามวัดโสมนัสฯไปทีละ 4 กม. ได้ระยะแล้วเมื่อเป็นจุดใด ก็ทำเครื่องหมายขุดค้นไว้เป็นระยะ จนกว่าจะถึงปลายคลองด้าน ต.บางกระสั้น และนำเทคโนโลยีใหม่อันทันสมัยเข้ามาช่วยในการสืบค้น ก็น่าจะพบเจอได้ไม่ยาก

...

จากนั้นนำมาสงวนรักษาสมบัติเก่าแก่ ที่ไม่สามารถทำขึ้นใหม่ได้อีกแล้ว กลับคืนมาเก็บไว้เป็นมรดกของชาติ และยังใช้เป็นจุดขายในเชิงการท่องเที่ยว หรือเชิงอนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองเปรมฯ ในอนาคตได้อีกด้วย

เรื่องนี้...มีน้อยคนที่ทราบความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หากค้นหาพบหลักเสา...อาจเป็นตัวสร้างแรงกระตุ้นให้คนสนใจ มาชมศึกษา และเข้าใจมากกว่าตอนนี้...