รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยถึงผลงานวิจัยบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือบ้านอัจฉริยะแบบใหม่ว่า ผลงานดังกล่าวได้รับทุนวิจัยจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) มีการติดตั้งตู้รวมไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งได้เคยพัฒนาก่อนหน้านี้ ครั้งนี้ยกระดับให้เป็นตู้รวมไฟฟ้าสมองกลอัจฉริยะทำหน้าที่คล้าย CPU หลักของบ้าน จับตัวคลื่นไฟฟ้าโดยตรง ควบคุม ป้องกัน และจัดการไฟฟ้า ที่จ่ายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้การใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างปลอดภัยเหนือกว่าบ้านอัจฉริยะ ที่สั่งงานอุปกรณ์ภายในบ้านผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ระบบใหม่นี้จะเพิ่มเรื่องความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าเข้าไปด้วย โดยตู้รวมไฟฟ้าจะเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) เพื่อสังเคราะห์ ตรวจจับการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า และระบบยังช่วยตรวจสอบความผิดปกติการใช้ไฟฟ้าด้วย

ผอ.บัณฑิตศึกษากล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการทำต้นแบบบ้านปราชญ์เปรื่องฯ จำนวน 58 หลัง โดยใช้ในบ้านที่ความแตกต่างทั้งฐานะและแบบบ้าน เป็นการศึกษาที่จะพัฒนาต่อยอดบ้านต่างๆไปสู่การเป็น Internet of Things (IoT) ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยง หรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล เพราะประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่ Smart City ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์เรื่องความปลอดภัย การประหยัดค่าไฟ และความสะดวกสบาย ถือว่าคุ้มค่ามาก.