การทำนามีหลายวิธีทั้งนาดำ นาหยอด นาหว่าน หลายคนอยากทราบมีข้อดีข้อเสียต่างกันเช่นไร...นาดำ ทำได้ทั้งปี แต่ต้องเป็นเขตชลประทาน มีน้ำเพียงพอ นาหยอด กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะได้ข้าวคุณภาพไม่ต่างจากนาดำ เหมาะกับพื้นที่ทำนาปี ส่วน นาหว่าน คนอีสานแทบ 100% ทำนาแบบนี้ เพราะพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ต้องรอพึ่งฟ้าฝน จึงหว่านเอาปริมาณมากไว้ก่อน
แล้วทำนาแบบไหนล่ะ ให้ผลผลิตดี ทำกำไรมากที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด หลายคนคงอยากรู้คำตอบ หรือมีคำตอบในใจ
“เราทำสถิติเก็บข้อมูลวิจัยมาหลายปี เพื่อเปรียบเทียบการทำนาแบบต่างๆ พบว่า การทำนาดำให้ผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคือนาหยอด ส่วนนาหว่านให้ผลผลิตน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน นาดำกลับใช้ต้นทุนการผลิตสูงที่สุด รองลงมาคือนาหว่าน ส่วนนาหยอดใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ฉะนั้นเราจึงสนับสนุนให้เกษตรกรทำนาหยอด
...
และด้วยความที่เราทำข้าวหอมมะลิ ที่ปลูกได้ตรงตามความต้องการของตลาดโลกในภาคอีสาน แต่ยังนิยมทำนาหว่านเป็นส่วนใหญ่ ปี 2558 จึงสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำนาหยอด โดยเพิ่มราคาให้อีกตันละ 500 บาท มาจนปัจจุบัน”
ส่วนข้อดี ข้อเสียโดยละเอียดของการทำนาแต่ละประเภทเป็นอย่างไร ดร.วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บ.บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวหงษ์ทอง อธิบาย
นาดำ...ทำได้ทั้งปี ให้ผลผลิตสูงที่สุด เฉลี่ยมากกว่านาหยอด 10% (ไร่ละ 615 กก.) แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ชลประทาน หรือมีแหล่งน้ำพอใช้ตลอดทั้งปี แม้จะประหยัดค่ากำจัดวัชพืช เนื่องจากต้องปล่อยน้ำเข้านา ทำให้วัชพืชตายไปในตัว แต่ต้องเสียค่ารถดำนาไร่ละ 1,400 บาท (รวมค่าเมล็ดพันธุ์ สำหรับปักดำ) และค่าไฟสูบน้ำเข้าออกนาเฉลี่ยมีต้นทุนไร่ละ 3,291 บาท สูงกว่านาหยอด 28%
นาหยอด...คล้ายกับการทำนาดำ แต่ทำแบบน้ำน้อย เพราะทำในพื้นที่นาปี ผลผลิตน้อยกว่านาดำ แต่มากกว่านาหว่านเฉลี่ย 24% (ไร่ละ 559 กก.) ต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 2,575 บาท ถูกที่สุดในบรรดาการทำนาประเภทต่างๆ โดยเฉพาะการประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ไร่ละแค่ 8-10 กก. หรือประมาณ 292 บาท
การทำนาหยอด ต้นข้าวจะเรียงเป็นระเบียบไม่ติดกัน เข้าแปลงควบคุมดูแลคุณภาพได้สะดวก ดูแลเรื่องปุ๋ย แมลง วัชพืชได้ง่าย ต้นข้าวจึงไม่แย่งกันกินอาหาร ทำให้ได้รับธาตุอาหารอย่างเต็มที่เท่ากันแทบทุกต้น ส่งผลให้ปริมาณรวงข้าวสูงแข็งแรง เมล็ดเรียงสวยงาม ให้ผลผลิตหอม เมล็ดเหนียวนุ่ม รสชาติอร่อยเหมือนกันทุกแปลง
ตรงนี้เอง ทำให้ได้คุณภาพตรงกับความ ต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ จึงเป็นเหตุผลให้เกิดการสนับสนุนให้ทำนาหยอด
...
นาหว่าน...ผลผลิตน้อยที่สุดเฉลี่ยไร่ละ 451 กก. ต้นทุนมากกว่านาหยอดเฉลี่ย 19% โดยเฉพาะกับค่าเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ถึงไร่ละ 25-30 กก. หรือ 650 บาท ค่าบริหารจัดการดูแลรักษา ทั้งค่าปุ๋ย แมลง วัชพืช เพราะการหว่านทำให้ต้นข้าวขึ้นไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้เข้าไปบริหารจัดการยาก ต้น รวง เมล็ดไม่สม่ำเสมอ เพราะต้องแย่งกันกินอาหาร แข่งกันโต ได้ข้าวคุณภาพไม่สม่ำเสมอ
สำหรับผู้สนใจทำนาหยอดให้ได้ผลผลิตตามตลาดต้องการ ดร.วัลลภ มีข้อแนะนำส่งท้าย “ทุกพื้นที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นก่อนทำนาชนิดใดก็ตาม การวิเคราะห์ดินก่อนปลูก จะทำให้เราประหยัดค่าปุ๋ยได้ดีที่สุด นอกจากนั้น ก็ต้องได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพได้มาตรฐาน ส่วนผู้ที่จะทำนาหยอด โดยเฉพาะในภาคอีสาน ทุกครั้งควรทำก่อนฝนจะมา หรือภายในเดือนเมษายน เพราะหากทำตอนฝนมาแล้ว ต้นกล้าอาจเสียหายไปกับฝนได้”.
กรวัฒน์ วีนิล