1,685 คน จำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงแค่ช่วง 6 เดือนระหว่าง 1 ต.ค.2561 ถึง 31 มี.ค.2562 ที่ขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ขณะที่สถิติผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข เฉลี่ยวันละ 50-60 คน ที่ยังไม่นับรวมกรณีปรากฏเป็นข่าวรายวัน และที่ถูกปิดบังซ่อนเร้นไม่ได้เข้าสู่กระบวนการอีกจำนวนมาก
นี่คือภาพสะท้อนถึงความรุนแรงในสังคมไทยซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าห่วง
พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 เปรียบเสมือนอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์ใหญ่ปัญหาความรุนแรง เป็นกฎหมายที่อุดช่องว่างจาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เดิม โดยเพิ่มกลไกการทำงานภาคส่วนต่างๆ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงการป้องกัน แก้ไข เยียวยา ยังครอบคลุมไปถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดบทบัญญัติ 7 หมวด 47 มาตรา สาระสำคัญ ให้มีคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ และหน่วยงานรับผิดชอบการส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว มีขั้นตอนและวิธีการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ชัดเจนและรวดเร็ว กำหนดให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดทางอาญา พร้อมกับดำเนินมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ผู้กระทำความรุนแรงเกิดความเกรงกลัวและยับยั้งไม่กระทำผิดซ้ำ ทั้งยังนำหลักการ “Batterd woman syndrome” คือให้สิทธิ์ต่อผู้กระทำความรุนแรง ที่ตนเองเคยถูกกระทำความรุนแรงซ้ำๆ ต่อเนื่องจนกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงและกลายมาเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง สามารถนำสืบเพื่อพิสูจน์การกระทำดังกล่าวได้ และให้ศาลลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือเพื่อให้ศาลไต่สวนและพิจารณาโทษใหม่ได้
...
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า “พ.ร.บ.ฉบับนี้ร่างตั้งแต่ปี 2555 และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาต่อเนื่องจนเสนอคณะรัฐมนตรีและผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติปี 2561 กระทั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 ซึ่งภายใน 90 วันหลังประกาศจะมีผลบังคับใช้ตรงกับวันที่ 21 ส.ค.2562 ขณะนี้ได้เร่งออกกฎหมายลูก รองรับ พ.ร.บ. และอยู่ระหว่างจัดทำคู่มือแนวทางการทำงานเพื่อสร้างการรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเดินสายทำความเข้าใจ”
อธิบดี สค. กล่าวด้วยว่า “กลไกการทำงานของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 3 ระดับ ตั้งแต่ ระดับชาติ มีคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองครอบครัว โดยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ระดับ จังหวัดกำหนดให้มีศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ส่วนกลางให้ สค.ทำหน้าที่ศูนย์ดังกล่าว ขณะที่ส่วนภูมิภาคให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทำหน้าที่ เพื่อดำเนินงานตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้คำปรึกษาแนะนำ ไกล่เกลี่ยประนีประนอมปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว รวมทั้งรับแจ้ง รวบรวม และประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อประโยชน์ในการยื่นคำร้องขอหรือคำแถลงต่อศาล พร้อมกำหนดให้หัวหน้าศูนย์ฯ สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำได้ทันทีกรณีจำเป็นเร่งด่วนระดับท้องถิ่นกำหนดให้มีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เพื่อเป็นหน่วยส่งเสริม พัฒนารวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพครอบครัวเป็นพี่เลี้ยงทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ซึ่งขณะนี้มีกว่า 7,000 แห่ง อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายใหม่นี้เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความรุนแรงมีโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะเดียวกันหากผู้ถูกกระทำไม่ร้องทุกข์ ทำให้ผู้กระทำได้ใจก่อความรุนแรงเพิ่ม จึงให้อำนาจศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวซึ่งมีทุกพื้นที่สามารถกล่าว โทษได้ทันที ถือว่าเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ กลไกการทำงานให้เกิดผลต้องบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด”
“ปัญหาที่เกิดในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อปัญหาอาชญากรรม หากเราสามารถสกัดตั้งแต่ต้นได้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง จะช่วยลดหรือขจัดปัญหาความรุนแรงให้หมดไปได้ อยากให้ทุกคนคิดได้ว่าเราจะเป็น 1 เสียงไม่กระทำความรุนแรง ไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมรับต่อความรุนแรงทุกรูปแบบ ปัญหาความรุนแรงก็คงไม่เกิด” นายเลิศปัญญา กล่าวปิดท้าย
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เสนอมุมมองว่า “พ.ร.บ.ฉบับนี้มีบทบัญญัติชัดเจนถึงการทำงานแต่ละส่วน โดยเฉพาะศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวซึ่งจากเดิมมีหน้าที่เพียงการประสาน ส่งต่อ แต่กฎหมายใหม่ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรง และยังกำหนดให้มี ศพค.หรือองค์กรนิติบุคคล หรือองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนเป็น ศพค.ตามกฎหมาย เป็นเครือข่ายทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมป้องกันปัญหาความรุนแรงในระดับพื้นที่ สิ่งที่เป็นห่วงคือ ภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับบุคลากรเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องอบรมสร้างความรู้พร้อมกับเสริมทักษะด้วยภาคปฏิบัติที่จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพในพื้นที่ ทั้งนี้ ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมไม่ใช่เป็นโรค สามารถปรับเปลี่ยนให้ผู้กระทำตระหนักถึงสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้องและผิดกฎหมายได้”
...
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม สนับสนุนการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่อยากฝากถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องมีความเข้าใจและจริงใจสานต่อกฎหมายให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในทางปฏิบัติ คงไม่มีใครอยากเห็นทัศนคติการมองปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวแล้วเพิกเฉย จนเป็นเหตุก่อปัญหาที่ลุกลามบานปลาย
เพื่อปลดล็อกความรุนแรงในสังคมไทยอย่างแท้จริง.
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม