ระหว่างปี ค.ศ.2030-2050 องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่า...การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปี เนื่องจากมาลาเรีย การขาดสารอาหาร ท้องร่วง และความเครียดจากความร้อน ซึ่งนับเป็นความสูญเสียที่รุนแรงมากทีเดียว

จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ชุมชนท้องถิ่น” ต้องวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบนี้

ผลกระทบอันเนื่องจากภาวะโลกร้อนประการหนึ่งที่ชุมชนท้องถิ่น ต่างยอมรับ คือ...วิกฤติเรื่อง “น้ำกิน...น้ำใช้” ทั้งนี้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต่างเดือดร้อน ไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร

ดร.สตรีไทย พุ่มไม้ อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บอกว่า เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน เกิดความผิดปกติของฤดูกาล การใช้ทรัพยากรน้ำก็ต้องปรับตัว เพราะมนุษย์ไม่สามารถกำหนดให้ฝนตกหรือไม่ตกได้ แต่ถ้ารู้ วัดปริมาณได้ว่าแต่ละช่วงในพื้นที่ของตนมีปริมาณน้ำเท่าไหร่ เป็นน้ำนิ่ง หรือน้ำไหล...

เดือนไหนมีน้ำ เดือนไหนแห้งแล้ง พื้นที่การเกษตรต้องใช้น้ำแค่ไหน ก็จะวางแผนและบริหารจัดการได้ แม้ว่าบางทีอาจต้องปรับเปลี่ยนชนิดพันธุ์พืช ช่วงการเพาะปลูก เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างสอดคล้อง

“วิธีจัดการของแต่ละชุมชนอาจไม่เหมือนกัน การใช้น้ำก็ไม่เหมือนกัน และวิธีคำนวณปริมาณน้ำก็มีมากมาย แต่เลือกวิธีกลางๆมาใช้จะได้ไม่ยากเกินไป ชุมชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ...นำกลับไปประยุกต์ใช้พื้นที่ของตนเองได้ โดยแต่ละชุมชนควรเก็บข้อมูลน้ำของพื้นที่ตนเองอย่างน้อย 1-3 ปี จะได้วางแผนอย่างเหมาะสม”

ขณะเดียวกัน เมื่อชุมชนรู้เรื่องของปริมาณน้ำแล้ว ก็ควรใส่ใจด้านคุณภาพน้ำด้วย หากแหล่งน้ำในพื้นที่มีปัญหาน้ำเสีย ก๊าซจากน้ำเสียก็จะมีโอกาสส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ทำให้โลกร้อนได้

...

ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการตัดสินใจของผู้นำชุมชน ช่วยให้บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด “สันติสุข”...ชุมชนจึงต้องมีความรู้เรื่องน้ำในพื้นที่ของตนเอง แล้วรู้ว่าเชื่อมโยงกับอะไร มองเป็นระบบลุ่มน้ำ...วางแผนจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ...ต้นน้ำ–กลางน้ำ–ปลายน้ำ

หยิบยกกรณีศึกษาที่ตำบลเก่าย่าดี อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ สภาพพื้นที่เป็นที่ลาดชันบ้าง เป็นแอ่งบ้าง ช่วงฤดูฝนจึงมีน้ำซึมน้ำซับจากภูเขาลงมา แต่เมื่อถึงฤดูร้อนก็แห้งแล้งหนักหนาสาหัส เหลือน้ำติดก้นแอ่งเพียงเล็กน้อย จากสภาพปัญหาและสภาพพื้นที่ที่เป็นอยู่ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลเก่าย่าดี ต้องดำเนินการแก้ไข

ด้วย...“โลกร้อน” ไม่ได้ทำให้ขาด “น้ำ” เพียงอย่างเดียว

น้ำอ้อย อาชนะชัย นายก อบต.เก่าย่าดี อธิบายว่า ฤดูร้อนที่ยาวนานบวกกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นแตกต่างจากเมื่อก่อน ทำให้เกิดโรคระบาดทางการเกษตร เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ซ้ำไฟป่ายังเกิดขึ้นง่ายแถมยังรุนแรงกว่าปกติ เนื่องจากพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง ไฟจึงลุกลามได้เร็ว อาหารจากป่าอย่างเห็ด หน่อไม้ แมลง ก็มีปริมาณน้อยลง เช่นเดียวกับอาหารจากแหล่งน้ำ หรือธรรมชาติ จำพวกกุ้งฝอย ปู หอย ก็ลดลง

สังเกตได้ว่า...สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมย่ำแย่กว่าเดิม

จากการร่วมกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับภาวะโลกร้อน นายกน้ำอ้อย ยอมรับว่า ต้องรีบดำเนินการรับมือ เพื่อไม่ให้คนในชุมชนต้องเดือดร้อนในอนาคต

ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชนในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ สสส.ให้การสนับสนุนและมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน ที่ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับชุมชนต่างๆที่เข้าร่วม เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม ...รับมือภาวะโลกร้อน

“ส่วนหนึ่งก็อยากให้รัฐบาลส่งเสริมท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากร เหมือนที่ สสส.ทำอยู่ โดยในการให้ความรู้ต้องให้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยจะได้จดจำแล้วนำกลับไปประยุกต์ใช้ได้ ตัวอย่างกิจกรรมการวัดปริมาณน้ำ เมื่อรู้ข้อมูลของน้ำในพื้นที่ตนเองแล้วก็จะคำนวณการใช้ ให้คำแนะนำชาวบ้านในการเพาะปลูกได้”

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ...การจัดการน้ำของแต่ละองค์กรท้องถิ่นดูเหมือนจะเป็นไปตามบริบทของพื้นที่ แต่องค์ความรู้ที่นำไปปรับใช้ได้กับทุกๆพื้นที่ เช่น การทำฝายชะลอน้ำ การใช้โมเดล โคก–หนอง–นา

คำว่า “โคก–หนอง–นา” โมเดลนั้น คือการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ

โคก-หนอง-นา โมเดล...เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ “โคก”...คือพื้นที่สูง ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ส่วน “หนอง”...คือ หนองน้ำหรือแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ขณะที่ “นา”...คือพื้นที่นา ใช้ปลูกข้าว

น่าสนใจว่า คำว่า “ข้าว” ในที่นี้ ทุกพื้นที่บอกว่าต้องเป็นนาข้าวอินทรีย์เท่านั้นจึงจะลดโลกร้อนได้

วันนี้ต้องยอมรับความจริง “ธรรมชาติ” ที่โหดร้าย...“สภาพภูมิอากาศ” ที่เปลี่ยนแปลง ฤดูร้อนยาวนานและแล้งจัด ฤดูหนาวหดสั้น...ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือเกิดน้ำท่วมใหญ่

หลายๆครั้งเกิดภัยพิบัติจากลมพายุ ลูกเห็บ...นับวันจะทวีความรุนแรงจนยากต่อการรับมือ

ความแปรปรวนเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ จนส่งผลต่อภูมิอากาศของโลกหรือที่เรียกกันว่า “สภาวะโลกร้อน” ซึ่งปัจจุบันได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว บางพื้นที่ร้อนแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน พื้นดินแห้งเป็นผงฝุ่น มนุษย์ต้องวิวาทแย่งชิงน้ำ สร้างความบาดหมางระหว่างชุมชนหลายต่อหลายครั้ง

...

ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบยังต่อเนื่องไปถึงสุขภาวะ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า สภาวะโลกร้อนทำให้พาหะนำโรค เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก เพิ่มขึ้นจากความชื้นและความร้อน ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการดำรงชีวิต ผลผลิตอาหารจะลดลงจากความแห้งแล้ง อากาศเป็นมลพิษ ละอองเกสร ฝุ่นควันจะทำให้เกิดภูมิแพ้และหอบหืด รวมถึงอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น หรือน้ำท่วมบ่อยขึ้น เป็นบ่อเกิดของโรคจากการดื่มและใช้น้ำ

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ “โลกร้อน” เริ่มใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นต่างๆจะเป็นพื้นที่หรือกลุ่มแรกๆที่จะได้รับผลกระทบ

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสริมว่า การตั้งรับของชุมชนท้องถิ่นจะบรรเทาความรุนแรงลงได้จาก 10 ส่วน อาจได้รับผลกระทบแค่ 6 ส่วน หรือถ้าตั้งรับดีก็อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่านั้น

ขณะนี้มีท้องถิ่น (อบต.และเทศบาล) 15 แห่ง ได้ลงนามร่วมกันที่จะลดโลกร้อน เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกอย่างน้อย 20 แห่ง เชื่อว่าในอีก 2 ปีต่อจากนี้ จะมีชุมชนท้องถิ่นราว 300 แห่งร่วมกันขับเคลื่อน

ดังสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำรัสบางตอนเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2532 ว่า “สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น” รวมถึงพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ในหลายโอกาส ซึ่งทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ฝากย้ำทิ้งท้ายว่า “พลังชุมชน” ต้องร่วมด้วยช่วยกัน...ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อการรับมือ “ภาวะโลกร้อน” ด้วยความสอดคล้องกับวาระของโลก ซึ่งก็คือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน.

...