สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกัน หรือหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ประกาศฉบับนี้ถือได้ว่าเปิดโอกาสให้จำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งกระทำความผิดอาญาเล็กน้อย มีอัตราโทษอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ได้รับอิสรภาพด้วยการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน

ที่ผ่านมาการขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น อาจจะสร้างภาระให้กับจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา เนื่องจากบางคดีจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์และยากจน จึงไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์หรือไม่มีบุคคลเข้ามาค้ำประกัน เพื่อแลกกับอิสรภาพชั่วคราวระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล และหลายคดีที่จำเลยหรือผู้ต้องหาตกเป็นแพะรับบาป แต่หาทนายความที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาแก้ต่างไม่ได้ หรือไม่สามารถขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ เพียงเพราะไม่มีหลักประกันตามที่กฎหมายกำหนด ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฉบับนี้ จึงสามารถลดช่องว่างระหว่างคนที่ถูกดำเนินคดีอาญา แต่มีฐานะทางการเงินต่างกันได้

ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเก่ียวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 5.3 แห่งข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในคดีอาญา พ.ศ.2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท เว้นแต่ มีเหตุสมควรท่ีจะส่ังเป็นอย่างอื่น ก็ให้ระบุเหตุน้ันไว้โดยชัดแจ้ง”

...

ประกาศของประธานศาลฎีกาฉบับดังกล่าวจะทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญาเล็กน้อย ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น รวมถึงได้รับอิสรภาพระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลมากขึ้น อีกทั้ง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกทางหนึ่ง แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลัก คือ คดีอาญาที่อัตราโทษอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี และอยู่ในดุลพินิจของศาลด้วย

จากข้อบังคับฉบับดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 3 ประเด็นครับ

1. ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกันทุกคดีหรือไม่ ในกรณีที่จำเลยหรือผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี หรือมีพฤติการณ์ดุร้าย ข่มขู่พยาน หรือข่มขู่ผู้เสียหาย หรือคดีที่จำเลยหรือผู้ต้องหาสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูง ศาลอาจจะใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่เรียกหลักประกันตามความจำเป็นก็ได้

2. ข้อบังคับฉบับดังกล่าวนั้น ใช้บังคับไปถึงพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือไม่ หากพิจารณาจากข้อบังคับฉบับดังกล่าวนั้น จะมีผลใช้บังคับในหน่วยงานของศาลเท่านั้น ดังนั้น การขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นของการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือ พนักงานอัยการ จึงไม่อาจใช้ข้อบังคับฉบับนี้ เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องมีหลักประกันได้ 

3. ในคดีที่จำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญาสร้างความเสียหายให้กับผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก หรือทุนทรัพย์สูง จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องหวังหลักประกันหรือไม่ หากพิจารณาข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฉบับดังกล่าวจะเห็นว่า ส่วนท้ายของข้อบังคับดังกล่าวระบุว่า “เว้นแต่ มีเหตุสมควรท่ีจะส่ังเป็นอย่างอื่น ก็ให้ระบุเหตุน้ันไว้โดยชัดแจ้ง” ดังนั้น ในคดีที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก หรือทุนทรัพย์สูง ศาลอาจจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือหากจะอนุญาตให้ประกันตัว ก็อาจจะต้องใช้หลักประกันตามความเหมาะสม

ข้อบังคับใหม่ ขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ ไม่ต้องมีหลักประกัน

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่ามีหลายท่านเห็นด้วย และมีอีกหลายท่านไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ประกาศใช้แล้ว ทุกคนก็ต้องเคารพและอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ