“ปฏิรูปการศึกษาไทย”... ให้เท่าทัน “โลกยุค 4.0” เป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง เพื่อ...อนาคตประเทศชาติ

ก้าวสู่ปีที่ 128 กับบทบาท กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา หากมองย้อนกลับไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รากฐานการศึกษาที่สำคัญที่วางไว้เพื่อจัดการศึกษาให้สอดคล้อง...เชื่อมโยงการศึกษาทุกระดับทุกประเภท ตั้งแต่...ระดับก่อนอนุบาล อนุบาล ประถมฯ มัธยมฯ อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ถือเป็นสิ่งที่น่าดีใจ ชื่นชม และเป็นความหวังได้...

รายงานผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) ปีการศึกษา 2561 ซึ่งมีนักเรียนเข้าสอบ 1.7 ล้านคนทั่วประเทศ แบ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.6 จำนวน 701,484 คน, นักเรียนชั้น ม.3 จำนวน 645,685 คน และนักเรียนชั้น ม.6 จำนวน 372,553 คน

ผลในภาพรวมถือว่าได้รับความพึงพอใจในระดับที่เพิ่มขึ้น...มีคะแนนสูงขึ้นในทุกกลุ่มสาระวิชา

1) ผลการสอบนักเรียนชั้น ป.6 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมทุกกลุ่มสาระวิชา สูงขึ้นเป็นร้อยละ 41.14 (จากปีการศึกษา 2560 ร้อยละ 37.93)...2) ผลการสอบนักเรียนชั้น ม.3 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมทุกกลุ่มสาระวิชา สูงขึ้นเป็นร้อยละ 37.71 (จากปีการศึกษา 2560 ร้อยละ 34.48)...3) ผลการสอบนักเรียนชั้น ม.6 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสาระวิชาคิดเป็นร้อยละ 35.32 (จากปีการศึกษา 2560 ร้อยละ 33.41)

...

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. บอกว่า ผลสอบ O-NET สูงขึ้นก็เพราะความตั้งใจจริงร่วมกันของผู้บริหารและครูทุกท่าน ที่ผ่านมา ศธ.ได้น้อมนำพระราชกระแสด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ

เช่น ครูต้องสอนให้เด็กมีน้ำใจ คนเรียนเก่งช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลัง ไม่ใช่คิดแต่จะแข่งขันกัน แต่ให้เด็กแข่งกับตัวเอง ให้ครูเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเป็นคนดี ครูรักเด็ก...เด็กรักครู หรือการปรับปรุงครู ไม่ให้ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์เพื่อให้ได้รับตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แต่ให้การสอนหนังสือถือเป็นความดีความชอบ...

ให้ครูมีศักดิ์ศรี ความเป็นอยู่ที่ดี ฯลฯ จึงมีหลายโครงการที่ ศธ.ได้นำมากำหนดเป็นนโยบาย เช่น เปลี่ยนโฉมครูยุคใหม่ ให้ครูสามารถช็อปปิ้งหลักสูตรอบรมเองได้ด้วยคูปองครูคนละหมื่นบาท

ให้ครูทุกคนได้เข้าถึงโอกาสในการเพิ่มเติมความรู้ จัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา เพื่อรองรับการคัดเลือกหลักสูตรพัฒนาครู มีครูอบรมไปแล้วกว่า 2.9 แสนคนทั่วประเทศ ประหยัดงบอบรมครูได้กว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี นำเงิน 2,000 ล้านบาทไปจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการครบทุกโรงเรียน พร้อมปรับปรุงบ้านพักครูทั่วประเทศใหม่

จัดระบบผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น กลับไปสอนในภูมิลำเนา รวมทั้งยกระดับภาษาอังกฤษแบบเข้มร่วมกับบริติช เคานซิลแก่ครูผู้สอนกว่าหมื่นคน ในศูนย์อบรมมหาวิทยาลัยราชภัฏ 15 แห่ง ผ่านโครงการ Boot Camp

พัฒนาบัณฑิตและอาชีวะไทยสู่มาตรฐานสากล ด้วยการผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก เช่น BTEC จากอังกฤษ KOSEN จากญี่ปุ่น Online Digital กับ IBM และ Microsoft จากสหรัฐฯ

พร้อมวางเป้าหมายคะแนน PISA ของไทยให้เพิ่มขึ้น 30 คะแนนในรอบหน้า...พัฒนา Hi-Speed Internet จนครอบคลุม 100% ในโรงเรียนทั้ง 30,113 แห่ง พัฒนาแอปฯ ติวฟรีดอทคอม Echo English และอื่นๆ ให้เด็กและประชาชนใช้ในการเรียนรู้ฟรี นำกลไกประชารัฐร่วมจัดการศึกษาผ่านโครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐ

เรื่องสำคัญคือ การแก้ปัญหาการทุจริตต่างๆ เช่น กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต MOENet อควาเรียมสงขลา อาหารกลางวันเด็ก เงินรายหัว การจัดซื้อครุภัณฑ์ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นทุกระดับในวงการศึกษาไทย ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคที่มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 แห่ง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 77 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต ร่วมกำกับดูแล ซึ่งล้วนส่งผลให้คะแนนสอบ O–NET สูงขึ้นตามลำดับ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 29,487 คน เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลให้คะแนน O-NET เพิ่มสูงขึ้น เลขาธิการฯ บุญรักษ์ ยอดเพชร เปิดเผยว่า นโยบายที่ส่งผลต่อคะแนนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ...

...

หนึ่ง...นโยบายการลดภาระงานครู เพิ่มคุณภาพผู้เรียน ร้อยละ 82 ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างธุรการให้กับโรงเรียนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินเดือนให้กับครูเดือนละ 9,000 บาท

สอง...นโยบายระบบเครือข่ายไฮสปีดอินเตอร์เน็ตร้อยละ 40 ซึ่งได้ให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกใช้บริการเองและเป็นการลดงบประมาณลงเหลือ 800 ล้านบาทจากเดิม 1,500 ล้านบาท และ สาม...การลงพื้นที่ของผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร้อยละ 24 เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรค และให้การช่วยเหลือโรงเรียนอย่างตรงจุด

สำหรับกิจกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาผลคะแนน O-NET ให้สูงขึ้น 5 อันดับสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ การทบทวนบทเรียนและเสริมทักษะในการทำข้อสอบ, การจัดการเรียนรู้ตรงตามตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551, การพัฒนาข้อสอบ O-NET ของ สทศ. ให้มีความเหมาะสม, การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และกิจกรรมพัฒนางานครูด้วยกระบวนการ PLC แก้ปัญหานักเรียน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. เปิดมุมมองในฐานะคนลงพื้นที่ติดตามงานด้านต่างๆของการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพจัดการศึกษา โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและพื้นที่ชายแดนใต้ที่สวมหมวกผู้แทนพิเศษของรัฐบาลอีกใบหนึ่ง ได้วางรากฐานงานสำคัญๆไว้ในพื้นที่เช่น...

...

โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงเรียนประชารัฐชายแดนใต้...อาชีวศึกษาประชารัฐ เพื่อให้นักเรียนผู้ได้รับผลกระทบและขาดโอกาส ได้กินนอน เรียนฟรีถึง 4,239 คน

พัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษา...แกนกลางของสถาบันศึกษาปอเนาะ สร้างศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนแผนบูรณาการศึกษาทั้งระบบ

งานชิ้นโบแดง คือ การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนนอกระบบการศึกษาก็เริ่มต้นในพื้นที่ชายแดนใต้จนสามารถนำเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้กว่า 90% โดยที่ยูเนสโกยกให้เป็นต้นแบบทั่วประเทศและในระดับสากล ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการนำเด็กออกนอกระบบที่เหลืออีก 421,157 คนทั่วประเทศกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

อีกทั้งยังมีการปรับภาพลักษณ์ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” สร้างพลังอาชีวะจิตอาสาจัดเตรียมกำลังคนรองรับพื้นที่ EEC เมื่อเรียนจบสามารถทำงานได้ทันที มีรายได้สูงและโครงการอื่นๆที่สอดรับกันอีกหลายๆเรื่อง

ในส่วนของ รมช.ศธ. ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ก็ได้ผลักดันการปรับหลักสูตรผลิตครู 5 ปี ให้เหลือ 4 ปี เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถในสาขาขาดแคลนมาสอบเป็นครูได้ จัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 ในรูปแบบของผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษาสำหรับผู้เรียน สร้างคนไทย 4.0

...

ที่จะต้อง “ธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก”...รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มีเป้าหมายพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ ทั้งครู นักเรียน คุณภาพสถานศึกษา ด้านการบริหาร ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ช่วยกันยกระดับการศึกษา พัฒนาอย่างทั่วถึง เข้มแข็งวิชาการ พัฒนาพร้อมด้านจริยธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และอีกงานสำคัญคือ...“โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่” ต่อเนื่องไปถึงโครงการ...“บัณฑิตพรีเมียม”

สะท้อนให้เห็นภาพ...“ปฏิรูปการศึกษาไทย” ให้เท่าทัน “โลกยุค 4.0” ดังที่ นพ.ธีระเกียรติ รมว.ศธ. เคยกล่าวไว้เมื่อหลายปีมาแล้วว่า “ปฏิรูป”...ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ทุกฝ่ายทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องก้าวไปพร้อมๆกัน หากแต่มัวมาทะเลาะกัน...ฝ่ายเอ็งฝ่ายข้า พวกเอ็งพวกข้า...เอ็งได้...ข้าไม่ทำ...ข้าได้...เอ็งไม่ทำ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

“ประเทศชาติ” ก็มีแต่สาละวันเตี้ยลง อยู่กันแบบไทยๆอายประเทศเพื่อนบ้าน.