นับตั้งแต่ปี 2477 มาจนปัจจุบัน 85 ปี ชาวจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช รวมทั้งชาวไทย จะร่วมกันจัดงาน “ฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี” หรือ “ย่าโม” เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของ “ท้าวสุรนารี”
ชาวไทยทุกคนจดจำวีรกรรมอันกล้าหาญได้ดี คุณหญิงโม เป็นหัวหน้าชาวนครราชสีมา นำชาวไทยทั้งชายและหญิงต่อสู้กับทหารลาว กอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพของ เจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2369 บริเวณทุ่งสำริด เมืองนครราชสีมา
หลังจากสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา คุณหญิงโม ขึ้นเป็น “ท้าวสุรนารี” จังหวัดนครราชสีมา จึงได้กำหนดให้วันที่ 23 มีนาคมของทุกปี เป็น “ฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี”
...
ปีนี้เป็นครั้งที่ 85 ของการจัดงาน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา คนปัจจุบัน จึงมีความคิดจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของวีรสตรีไทย
อีกทั้งเป็นการเชิดชูเกียรติวีรกรรมของ ท้าวสุรนารี เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงวีรกรรมอันกล้าหาญ เสียสละ และดำรงไว้ซึ่งความสามัคคีของคนในชาติ
รวมถึงการส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามที่เป็นทั้งเอกลักษณ์ที่ดีของชาวโคราช และยังเป็นเทศกาลงานท่องเที่ยวระดับประเทศ รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน
กำหนดการจัดงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน 2561 เป็นประจำเหมือนทุกปี ที่ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และ สนามหน้าศาลากลางจังหวัด รวม 12 วัน 12 คืน โดยมีไฮไลต์ “งานย่าโม 62” กับ แสง สี เสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม”
...
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายธวัช อรรถยุกติ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีรำบวงสรวงท้าวสุรนารี และเปิดงานที่ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ในโอกาสนี้ ผู้แทนพระองค์ได้มอบผ้าสไบพระราชทานให้กับ ผวจ.นครราชสีมา เพื่ออัญเชิญขึ้นห่ม อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
...
บรรยากาศภายในพิธีเปิดงานจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีหญิงสาวชาวจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 6,083 คน ร่วมประกอบพิธีรำบวงสรวงถวาย “คุณย่าโม” เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญ โดยในปีนี้ถือเป็นปีที่มีหญิงสาวเข้าร่วมพิธีรำบวงสรวงมากที่สุด นับตั้งแต่มีพิธีรำบวงสรวงเป็นต้นมา
นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาด จ.นครราชสีมา เป็นผู้นำการรำบวงสรวงฯ ใช้เวลาในการรำประมาณ 25 นาที ผู้ร่วมฟ้อนรำทุกคนสวมใส่ชุดไทยจิตรลดาสวยงาม
...
ท่ารำในชุดแรก เป็นการรำถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ท่ารำชุดที่ 2 เป็นการรำแบบการละเล่นพื้นบ้าน 4 ภาค และการรำชุดสุดท้าย เพลงทำนองสรภัญญะ รำบวงสรวงถวาย “คุณย่าโม” หญิงสาวผู้รำทุกคนต่างมีท่วงท่าการรำเป็นไปอย่างพร้อมเพียงด้วยความอ่อนช้อยสวยงาม
นอกจากกิจกรรมที่ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แล้ว ที่ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ภายในงานยังมีการออกร้านกาชาด การแสดง และจำหน่ายสินค้าโอทอป สินค้าที่ระลึก และร้านอาหารนานาชนิดมากมายกว่า 500 ร้าน พร้อมชมการแสดงของศิลปินชื่อดังตลอดทุกวัน
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า การจัดงานวันฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี “ย่าฉันท่านชื่อโม” ประจำปี 2562 หรือ “งานย่าโม 62” ได้บูรณาการหน่วยงานต่างๆทั้งจังหวัดมาร่วมแรงร่วมใจกันจัดงาน มีกิจกรรมย้อนยุคอดีตของเมืองโคราชมาจนปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้แก่ประชาชน
ด้าน นายสมัย ปัดกอง ประธานชมรม ทูบีนัมเบอร์วัน เอี่ยมเฮง ที่มาร่วมออกบูธ TO BE NUMBER ONE จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การออกบูธเป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติดใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โดยทางชมรมใช้งานนี้มาให้ความรู้แก่เยาวชน เพื่อจะได้ห่างไกลจากยาเสพติดด้วย
ส่วนไฮไลต์ของงาน คือจัดเต็มในการเพิ่มการแสดง แสง สี เสียง ในวีรกรรมของคุณหญิงโม หัวข้อ “ย่าฉันท่านชื่อโม” ได้รับเกียรติจากศิลปินดารา อาทิ สรพงษ์ ชาตรี, อภิรดี ภวภูตานนท์, พ.อ.วินธัย สุวารี และมีผู้ใหญ่ในจังหวัด ร่วมแสดง อาทิ นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาด, พล.ต.ต.วัชรินทร์ บุญคง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือ หมอภาคย์ ผบ.กองพันเสนารักษ์ที่ 3 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์
รวมนักแสดง 380 คนล้วนเป็นลูกหลานชาวโคราช แสดงที่เวทีกลางน้ำ บริเวณคูเมืองหลังหอนาฬิกา สนามหน้าศาลากลาง จ.นครราชสีมา มี พล.อ.ดร.มารุต ลิ้มเจริญ เป็นผู้ดำเนินงานจัดแสดง แสง สี เสียง และ นายสนธยา อ่อนน่วม ผู้กับการแสดงและกำกับเวที แบ่งการแสดงออกเป็น 7 องค์ ผู้ชมต่างตื่นตาตื่นใจที่ได้ชม
ยังเหลือเวลาจนถึงวันที่ 3 เมษายนนี้ มีเวลาให้ไปร่วมงานอันยิ่งใหญ่ เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของ “ท่าวสุรนารี” หรือ “ย่าโม”.