ต้นรัง (Burmese sal) ชื่อวิทยาศาสตร์ (Shorea siamensis) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ทนแล้ง และทนไฟได้ดี พบในมาเลเซีย พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม
ประเทศไทยกระจายพันธุ์อยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักขึ้นตามป่าเต็งรัง ตามเขาหินปูน ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงความสูง 1,300 เมตร ส่วนตะวันออกกับภาคใต้ ไม่พบไม้ชนิดนี้
สรรพคุณของรัง ใบนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ เปลือกต้มกินน้ำแก้โรคท้องร่วง และใช้ใบแก่สีเขียวมาตำพอกรักษาแผลพุพองได้ดี ยางใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ หรือใช้ยาแนวเรือ ส่วนเนื้อไม้รัง ใช้ในงานการก่อสร้างบ้านเรือนได้ดี เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความทนทานคู่กับไม้เต็ง
ด้วยเปลือกต้นมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา มีความแข็งและหนามาก แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้นคล้ายรอยไถ เปลือกด้านในสีแดงออกน้ำตาล กิ่งก้านมักคดงอ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง แม้แต่ในช่วงผลัดใบ แตกใบอ่อนสีแดงมองไปแล้วสวยงาม จากนั้นในช่วง มี.ค.–เม.ย.จะออก ดอกสีเหลืองอร่าม ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆกระจายไปทั่วบริเวณ
เลยทำให้คนรักต้นไม้ทรงสวย เศรษฐีหลายราย หลงใหลในเสน่ห์ของต้นรัง สั่งซื้อต้นรังขนาดใหญ่แบบไม้ล้อม ราคาเรือนแสนบาท ขนขึ้นรถบรรทุกมาปลูกประดับในสวนส่วนตัว
แม้จะปลูกได้ดี นานหลายปี ต้นรังจะไม่เจริญเติบโต เพราะธรรมชาติของต้นรังชอบขึ้นอยู่ตามป่าแล้ง และเขาปูน ชอบอากาศแห้งๆ พอเอามาปลูกในพื้นที่ราบลุ่มเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำแถมฝนตกน้ำท่วมขังบ่อย
นอกจากจะไม่โต ใบร่วง รากเน่า ท้ายที่สุดมักจะยืนต้นตาย...เมื่อวันนั้นมาถึง อย่าลืมเตรียมเงินจ้างคนมาตัดถอนออกไป เพราะปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน.