มาว่ากันต่อถึงการทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ในแบบที่ 2 โดยใช้เครื่องจักรที่เรียกว่า รถรีไซคลิ่ง (Pavement In Place Recycling) ในแบบที่เรียกว่า ได้มาตรฐานมากที่สุด แข็งแรงทนทานกว่า สร้างได้เร็วกว่าแบบที่ 1...แต่ต้นทุนจะแพงกว่าประมาณ 3 บาทต่อ ตร.ม. เพราะค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่อง จักรจะแพงกว่า

เนื่องจากมีการนำเครื่องจักรกลมาทำถนนพาราซอยล์ ซีเมนต์แบบครบเซตจนจบในกระบวน การเดียว...มีรถรีไซ-คลิ่งวิ่งนำหน้าตะกุยผิวถนนลูกรังเดิมให้ลึก 20 ซม. จากนั้นมีเครื่องจักรเทปูนซีเมนต์ ปูนขาว ลงไปในกองดินที่ตะกุยให้ร่วนซุยพร้อมกับคลุกเคล้า ดิน+ปูนซีเมนต์+ปูนขาว ให้ผสมเข้ากันอย่างทั่วถึง

แล้วตามด้วยรถบรรทุกน้ำที่ใส่น้ำยางสดผสมสารลดแรงตึงผิว (โพลิเมอร์) คอยฉีดพ่นน้ำยางผสมลงไปบนถนน โดยมีรถเกรดและรถบดอัดวิ่งตามกันไป...จะได้ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ในเวลาที่รวดเร็ว ไม่ต้องบ่มน้ำ

แต่เนื่องจากรถรีไซคลิ่งนั้นหายาก ราคาแพง ผู้รับเหมาทั่วไปไม่ค่อยมีใช้กัน เพื่อให้โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร สามารถเดินหน้าในการดูดซับน้ำยางพาราได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงทุกพื้นที่

เพื่อแก้ปัญหารถรีไซคลิ่งมีไม่พอใช้งานสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ให้ได้มาตรฐานของกรมทางหลวง และป้องกันปัญหาเรื่องเซ็นรับมอบงานสร้างถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยราชการอื่นๆ

ดร.ถาวร ตะไก่แก้ว วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ แนะให้ใช้วิธีนำวัสดุต่างๆไปผสมที่โรงงาน หรือแพลนปูน ให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนนำมาเททำถนน เพื่อส่วนผสมจะได้คลุกเคล้าเข้ากัน เหมือนใช้รถรีไซคลิ่ง

นั่นคือ นำรถมาขูดผิวถนนเก่าให้ลึก 20 ซม. จากนั้นนำดินไปให้โรงงานผสมปูนซีเมนต์ ปูนขาว น้ำยางพารา สารลดแรงตึงผิว (โพลิเมอร์) จากนั้นนำมาเทและบดอัดทำถนนได้เลย โดยไม่ต้องฉีดบ่ม 7 วัน

...

แต่ไม่ว่าจะทำกันแบบไหน ห้ามทำเวลาฝนตกโดยเด็ดขาด ปูนซีเมนต์ที่นำมาใช้ ต้องเป็นปูนปอร์ตแลนด์ Type 1 (มอก.15 หรือ มอก.80)และต้องมีการเจาะถนนทุก 200 ม. เพื่อเก็บตัวอย่างมาทดสอบแรงกด หากผ่านมาตรฐาน ผู้รับเหมาถึงจะส่งมอบงานได้...คนเซ็นรับมอบงานถึงจะสบายใจได้.

สะ-เล-เต