ในที่สุดการสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ดินผสมปูนซีเมนต์และน้ำยางพาราสด ได้ข้อสรุปออกมาเป็นมาตรฐานของกรมทางหลวงแล้ว...สามารถทำได้ 2 แบบ
แบบแรก เป็นการนำส่วนผสม ดิน ปูนซีเมนต์ หรือปูนซีเมนต์ผสมปูนขาว มาเทบนถนนที่จะสร้าง แล้วบดอัดทันที...แบบที่สองเป็นการผสมโดยใช้เครื่องจักรที่เรียกว่า รถรีไซคลิ่ง (Pavement In Place Recycling) จะผสมบนถนนเลย หรือจะผสมจากโรงงาน แล้วนำมาเทบดอัดอีกครั้ง
แต่ทั้ง 2 แบบ มีวิธีการที่แตกต่างกัน เพื่อไม่ให้ อบต. เทศบาล และหน่วยราชการต่างๆที่ร่วมโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร มีปัญหาในเรื่องเซ็นรับมอบงาน ไม่ตรงตามมาตรฐาน และไม่มีปัญหาเหมือนกรณี จ.กระบี่ ทำได้ไม่กี่วัน ถนนพัง เพราะทำได้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน
ดร.ถาวร ตะไก่แก้ว วิศวกรโยธาจากสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง อธิบายขั้นตอนการทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์แบบแรก...เริ่มจากขูดพื้นผิวทางเดิมที่เป็นหลุมเป็นบ่อออกไปก่อน จากนั้นเริ่มบดอัดชั้นแรกให้มีความแน่น 95% ก่อนจะเทดินลูกรัง แล้วตามด้วยปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ Type 1 (มอก.15 หรือ มอก.80) ส่วนปูนขาวจะใส่เพื่อลดการเกิดเชื้อรา หรือไม่ใส่ก็ได้ แล้วใช้รถเกรดไถให้ส่วนผสมคลุกเคล้าเข้ากัน
จากนั้นนำน้ำยางสดผสมน้ำสะอาดที่ไม่มีกรด ห้ามใช้น้ำทะเลเด็ดขาด พร้อมเติมสารยึดเหนี่ยวลงไปให้ได้อัตราส่วนที่กำหนด...แต่การผสมทั้งหมดต้องทำในรถบรรทุกน้ำ
แล้วจึงนำไปเทราดบนถนนที่เกรดเกลี่ยแล้ว พร้อมกับไถเกรดใหม่อีกรอบเพื่อให้น้ำยางพาราผสมคลุกเคล้ากับดิน ปูนซีเมนต์ ปูนขาว ได้อย่างเข้ากัน จากนั้นจึงบดอัดให้มีความแน่น 95% และต้องฉีดพรมบ่มถนนไปอีก 15 ชม. จึงจะเปิดให้ใช้ถนนได้...แต่ฉีดบ่มน้ำไปอีก 7 วัน
และในระหว่าง 7 วันนี้ ต้องมีการเจาะถนนทุก 200 ม. เพื่อเก็บตัวอย่างมาทดสอบแรงกด หากผ่านมาตรฐาน ผู้รับเหมาถึงจะส่งมอบงานได้
...
ส่วนแบบที่ 2 ต้องทำกันยังไงถึงให้ผ่านมาตรฐาน...มาว่ากันต่อพรุ่งนี้.
สะ-เล-เต