ต้นไม้มีแสงสว่างในตัวเอง อาจเป็นเรื่องในนิยาย...แต่วันนี้เป็นจริงได้แล้ว เมื่อ ศ.ไมเคิล สตาร์โน ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนไบโอนิคพืช จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (MIT) ประสบความสำเร็จทำให้ต้นวอเตอร์เครสเรืองแสงได้เหมือนโคมไฟ เมื่อปลายปี 2560
เป็นแสงที่เกิดจากการทำปฏิกิริยากันของเอนไซม์ลูซิเฟอเรสกับโมเลกุลลูซิเฟอร์ริน ที่สังเคราะห์ขึ้นมา โดยเลียนแบบหิ่งห้อย ด้วยการเปลี่ยนเอนไซม์และโมเลกุลให้เป็นอนุภาคนาโน แล้วเก็บไว้ในรูปแบบน้ำยา
จากนั้นนำพืชไปฝังตัวในน้ำยา เมื่ออนุภาคนาโนวิ่งเข้าไปสู่ใบไม้ จะทำปฏิกิริยาเคมีเปล่งแสงขึ้นมา
เป้าหมายของงานวิจัยนี้ เดิมต้องการให้เด็กในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในประเทศโลกที่ 3 ไม่มีไฟฟ้าใช้ ให้สามารถอ่านหนังสือได้ในยามค่ำคืน โดยไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากไฟไหม้จากเทียนหรือกองไฟ
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บอกว่า หลังจาก ศ.สตาร์โน ประสบความสำเร็จ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มนำงานวิจัยชิ้นนี้มาต่อยอด
ทำการวิจัยในพืชขนาดเล็กเพื่อนำไปสู่การทำให้พืชขนาดใหญ่ อย่างไม้ยืนต้นเปล่งแสงได้ยาวนานตลอดอายุขัยของต้นไม้ ด้วยการฉีดพ่นน้ำยาไปที่ต้นไม้ได้โดยตรง โดยไม่ต้องนำพืชไปฝังตัวในน้ำยาเหมือนงานวิจัยต้นแบบ
เพราะถ้าต้นไม้เรืองแสงได้จะช่วยประหยัดงบประมาณค่าพลังงานได้มหาศาล โดยเฉพาะไฟฟ้าส่องสว่างยามค่ำคืน ทั้งบ้านและในที่สาธารณะ
ขณะนี้ศูนย์ RISC จึงได้ร่วมกับทีมวิจัย MIT กำลังพัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้ได้จริงกับไม้ใหญ่ ถ้าใน 3 ปีนี้ทำสำเร็จไทยจะเป็นชาติแรกในโลกที่มีไม้ใหญ่เรืองแสงได้.