ชี้มีภาพการเมืองไม่เป็นกลาง ห่วงงานมนุษย์-สังคมศาสตร์ขาดหาย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีผ่านร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทำให้คาดหวังว่ากระทรวงใหม่จะเป็นจริงได้ในรัฐบาลนี้ อย่างไรก็ตาม ตนห่วงใยว่างานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะไม่ได้รับความสำคัญ เพราะคำหลักทั้ง 2 คำดังกล่าวหายไปจากร่างกฎหมาย และไม่เห็นด้วยที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพราะประการแรก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นกระทรวงของนักวิชาการ นักวิจัย จะต้องเป็นกระทรวงที่เป็นกลาง ปราศจากอคติหรือความขัดแย้งทางการเมือง แต่ ดร.สุวิทย์มีฐานะเป็นนักการเมือง มีภาพที่ขัดแย้งในตัวเอง และตัว ดร.สุวิทย์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องเป็นแกนนำพรรคการเมือง ซึ่งตนไม่เชื่อในเรื่องความเป็นกลาง และความถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว ก็จะมองโครงสร้าง การจัดวาง และนโยบายโดยยึดงานการเมืองมาก่อนงานวิชาการ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ต้องเป็นกระทรวงของนักวิชาการ ขณะเดียวกัน กรรมการส่วนใหญ่ก็เป็นสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

“ผมเห็นด้วยว่า การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ต้องอย่าลืมงานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ไม่เช่นนั้นความสมดุลของมหาวิทยาลัยและนโยบายของชาติจะหายไป และถูกครอบงำด้วยวิทยาศาสตร์ทั้งหมด โดยมรรยาท ดร.สุวิทย์ไม่ควรจะรับตำแหน่งนี้ ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะมีความหนักแน่น รู้เรื่องการอุดมศึกษา เข้าใจการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญไม่มีภาพการเมือง” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวและว่า งานการอุดมศึกษาไม่ควรผูกโยงกับการเมือง นักวิชาการควรมีความเป็นอิสระที่จะทำวิจัย หรือเสนอแนะเชิงวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ของประชาชน สังคมและประเทศชาติ แต่ขณะนี้เรามุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ตลาดเสรี ตามแนวคิดของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ดึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาบริหารประเทศ ส่วนคนกลุ่มล่างเราก็แจกเงิน ซึ่งสุ่มเสี่ยงทำให้ประเทศชาติขาดรากฐาน และไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน.

...