ปูทะเลที่ขายกันในท้องตลาด แม้จะมีราคาสูง แต่หากนำมาทำเป็นปูนิ่มราคาจะสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จากราคา กก.ละ 170 บาท เพิ่มเป็น 350-500 บาท

นางรจนา โรมรินทร์ อายุ 26 ปี ประธานกลุ่มเลี้ยงปูนิ่ม ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง เผยถึงเทคนิคในการเลี้ยงปูนิ่มว่า จะซื้อปูดำมาเลี้ยงเพราะเป็นพันธุ์ปูที่มีเนื้อแน่น มีความอดทนสูง เลี้ยงง่าย ตายยาก

บ่อที่ใช้เลี้ยงจะเป็นดินออกแบบให้มีประตูระบายน้ำทะเลไหลเข้าออกได้ กลางบ่อมีทางเดินทำด้วยไม้ พร้อมทำหลังคาคลุมเพื่อเวลาทำงานให้อาหารปู ตรวจเก็บปูนิ่ม ไม่ต้องตากแดดตากฝน สองข้างระหว่างทางเดิน ทำแพรองรับตะกร้าปู ใช้ท่อพีวีซีขนาด 1-2 นิ้ว ปิดปลายทางทั้งสองข้าง ต่อเป็นแพยาว 10-20 ม. พร้อมกับใช้ไม้ไผ่วางพาดขวางยึดท่อพีวีซีให้ห่างพอดีกับขนาดตะกร้าเลี้ยง กว้าง 22.6 ซม. ยาว 30 ซม. สูง 16.1 ซม. และต้องออกแบบให้แพใส่ตะกร้าปูเคลื่อนที่ไปมาได้ โดยการดึงเชือก เพื่อความสะดวกในการจัดการ

“ปูดำที่จะนำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่ม ต้องเป็นปูเล็ก ขนาด 6.5-7.5 ซม. คัดเอาเฉพาะตัวผู้ และปูกะเทย โดยสังเกตตรงส่วนท้อง ปูตัวผู้จะมีจับปิ้งเป็นสามเหลี่ยมแคบๆ สีขาว ส่วนปูกะเทยจับปิ้งจะคล้ายตัวเมีย แต่มีสีขาวเหมือนตัวผู้ ก่อนจะปล่อยปูลงตะกร้า ต้องปรับสภาพของปูให้เข้ากับน้ำที่จะใช้เลี้ยง นำน้ำในบ่อมารดบนตัวปูให้ชุ่ม ตัดเชือกมัดปูออก ตัดขาสองข้างให้เหลือเฉพาะก้ามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลอกคราบเร็ว ก่อนจะนำปูไปปล่อยลงในตะกร้าใบละ 1 ตัว แล้วใช้ตะกร้าอีกใบมาครอบปิด”

...

ส่วนอาหาร ใช้ปลาเป็ดสับ หั่นเป็นชิ้นขนาด 1-2 นิ้ว ให้ตามสัดส่วนน้ำหนักของปู ประมาณ 10% ของน้ำหนักปู ให้วันละครั้ง รอเวลาไม่เกิน 45 วัน ปูจะลอกคราบ

ก่อนลอกคราบกระดองปูจะมีตะไคร่น้ำสีดำเกาะ เฝ้าดูปู ทุก 4 ชั่วโมง หากในตะกร้าเดียวกัน มีปู 2 ตัวเมื่อไหร่ แสดงว่าปู ลอกคราบแล้ว ให้รีบจับออกมาแช่น้ำจืดครึ่งชั่วโมง เพื่อไม่ให้กระ-ดองแข็ง เพราะถ้าปล่อยไว้ในน้ำเค็มกระดองจะแข็งภายใน 2-4 ชั่วโมง

จากนั้นนำบรรจุลงในตะกร้าใส่ในถังน้ำแข็งนำผ้าชุบน้ำจืดมาคลุมตะกร้า ราดน้ำตามอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ปูคงความสด แล้วรีบนำส่งไปขายในราคา กก.ละ 350-500 บาท ส่วนการแช่แข็งปูนิ่มในตู้แช่แข็งที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 18 ˚C จะสามารถเก็บไว้ได้นาน 2-3 เดือน.