อุทาหรณ์การจากไปของ "เพชรมงคล" หมอรามาฯ เผยผลวิจัย นักมวยเด็กเสี่ยงเซลล์สมองถูกทำลาย ไอคิวต่ำ ชกนานๆ แก่ไปเป็นอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน หนุน พ.ร.บ.กีฬามวย ห้ามเด็กต่ำกว่า 12 ปีชกปะทะ

จากการเสียชีวิตของ "เพชรมงคล ส.วิไลทอง" นักมวยเด็กอายุ 13 ปี ที่ถูกน็อกศีรษะกระแทกพื้น ทำให้เกิดคำถามถึงความปลอดภัยของนักมวยเด็กที่มีอยู่จำนวนมาก แม้หลายคนทำเพื่อช่วยครอบครัว และหาเงินเรียนหนังสือ แต่นับจากนี้ควรหามาตรการเพื่อความปลอดภัยของเด็กเหล่านี้หรือไม่

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับน้องเพชรมงคลเป็นที่น่าเสียใจ เศร้าใจมากกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงยังมีเด็กอีกจำนวนมากทั่วประเทศ ที่เป็นนักมวยเด็ก แม้จะไม่เกิดเหตุรุนแรง แต่น่าเป็นห่วงเรื่องการเติบโตในอนาคต เพราะจากผลวิจัยเด็กทั่วไป 252 คน กับนักมวยเด็ก 335 คน โดยนำเด็กตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเครื่อง MRI พบว่าระบบสมองมีความต่างกันอย่างชัดเจน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตในอนาคต โดยผลต่อสมองของนักมวยเด็ก มีดังนี้

1.เลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง

2.เซลล์สมองและใยประสาทฉีกขาด และถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ เพราะเซลล์สมองสร้างสัญญาณที่เดินทางผ่านใยประสาทเพื่อส่งไปสั่งการส่วนต่างๆ ของร่างกาย เปรียบเสมือนกับเครื่องกระจายเสียง

3.การทำงานของสมองด้านความจำลดลง นำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญา หรือภาวะสมองเสื่อมได้

...

4.ยิ่งชกนานไอคิวหรือระดับสติปัญญายิ่งน้อย พบว่าน้อยกว่าของเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน โดยระดับไอคิวของเด็กทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 ซึ่งสามารถเรียนจบระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปีมีไอคิว 84 คะแนน ซึ่งคะแนนระหว่าง 80-89 จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น

ดังนั้นจากผลการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กจะส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคต ที่ระดับสติปัญญาต่ำกว่าคนทั่วไป อาจส่งผลให้มีโรคทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ (โรคหลงลืม) หรือพาร์กินสัน (โรคสั่น) เป็นภาระต่อคนรอบข้างในอนาคต และโดยความจริงแล้วไม่มีวัยใดปลอดภัยจากการถูกชกที่ศีรษะ แต่สำหรับผู้ใหญ่มีสิทธิและวุฒิภาวะสามารถตัดสินใจเลือกเองได้ว่าจะเป็นนักมวยหรือไม่

ทางออกของเรื่องนี้ คือ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ฝึกมวยโดยไม่ปะทะ ส่วนอายุต่ำกว่า 13-15 ปี ก็ควรปรับเปลี่ยนกติกาที่ไม่ให้กระทบต่อสมอง หรือหาอุปกรณ์เพื่อป้องกันอย่างเหมาะสม

ความห่วงใยนี้ไม่ใช่ต่อต้านไม่ให้เด็กชกมวย อย่างที่ พลโทอดุลยเดช อินทะพงษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พร้อม สนช.อื่นรวม 33 คน ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.กีฬามวยฉบับใหม่ โดยพลโทอดุลยเดช เปิดเผยว่า เพื่อให้วงการมวยมีมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งนักมวยเด็กด้วย.