หลายครั้งที่มักจะได้ยินว่าผู้ปกครองควรให้ลูกหลานในครอบครัวลดการอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เพื่อให้หันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง แต่ไม่ใช่แค่เด็กๆเท่านั้นที่ควรถูกจำกัดการใช้เวลาอยู่หน้าจอดิจิทัล ผู้ปกครองก็ควรปฏิบัติเช่นกัน แม้ว่าโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์พกพาจะเป็นสิ่งที่รวบรวมความเป็นส่วนตัว งานการ สังคม ข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิงที่ชื่นชอบไว้ก็ตาม
เมื่อเร็วๆนี้กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเกี่ยวกับพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนน์ อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา เผยผลวิจัยพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่หมกมุ่นและถูกรบกวนด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลพกพาตลอดเวลา อย่างโทรศัพท์มือถือ มีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับลูกๆน้อยลง คุยกันน้อยลง และอาจมีความขัดแย้งกับเด็กๆเพิ่มขึ้น
หรือต้องเผชิญความยุ่งยากกับพฤติกรรมของเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาของเด็กๆได้
นักวิจัยแนะนำว่าพ่อแม่และผู้ปกครองควรกลับไปพิจารณาถึงอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านั้น แทนที่จะใช้เป็นเครื่องปลดปล่อยความเครียด แต่ลองปรับเปลี่ยนด้วยการออกไปทำกิจกรรมอื่น เช่น เดินเล่น หรือมีส่วนร่วมกับผู้อื่น จัดลำดับความสำคัญของมื้ออาหาร เวลานอน และจัดช่วงเวลาเฉพาะสำหรับสมาชิกในครอบครัว แต่หากต้องเปิดดูอีเมล ติดตามข่าวสาร หรือเข้าสู่สังคมออนไลน์ก็ควรทำในช่วงเวลาที่ไม่มีเด็กๆอยู่รอบตัว เนื่องจากพวกเขาจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่.