ใช้กดเงินสด-รูดซื้อสินค้าธงฟ้า จับมือ 44 อปท.นำร่องธนาคารเวลา
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่โรงแรมตะวันนา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานงานคิกออฟการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า พม.ร่วมกับกระทรวงการคลังช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 4 ล้านคน ผ่านการเพิ่มเงินเข้ากองทุนผู้สูงอายุอีก 2 ช่องทาง คือ 1.กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร จากการเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี และ 2.ให้ผู้สูงอายุ ที่ไม่เดือดร้อนทางการเงิน บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุในโครงการที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 100 บาท จากเดิมได้รับ 300 บาท รวมเป็น 400 บาท ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 50 บาท จากเดิมได้รับ 200 บาท รวมเป็น 250 บาท โดยจะจ่ายทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มจ่ายครั้งแรกวันที่ 15 ส.ค.2561 ไปจนถึง 15 มี.ค.2562 โดยการจ่ายเงินของเดือน ส.ค. เป็นการจ่ายสมทบย้อนหลังของเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาด้วย
รมว.พม.กล่าวอีกว่า ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำบัตรไปกดเงินสดได้ที่ตู้กดเงินอัตโนมัติ (ATM) ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขา กดเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100 บาท โดยไม่มีค่าธรรมเนียม หรือนำไปรูดซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” หรือเก็บสะสมเงินในบัตรสำหรับใช้ในเดือนต่อไป อย่างไรก็ตาม จะประชุมพิจารณาว่าจะปรับ เพิ่มหรือลดลงอย่างไรในเดือน มิ.ย.2562 โดยจะดูจากยอดรายรับที่เข้ามาในกองทุนฯ แต่คิดว่าจะให้ต่อเนื่องต่อไป
...
วันเดียวกัน พล.อ.อนันตพร ได้เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมกัน 44 พื้นที่นำร่องธนาคารเวลา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย โดย พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า พม.โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 44 พื้นที่นำร่อง ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการจัดตั้งธนาคารเวลา เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุ อาทิ พาผู้สูงอายุไปเดินเล่น พาไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด แนะนำทางการเงินให้ สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ ฯลฯ โดยผู้ให้บริการจะได้รับการตอบแทนตามเวลาที่สะสมไว้ จากนี้จะทดลองจัดตั้งธนาคารเวลา ตั้งแต่การวางระบบการทำความดีแลกคะแนน เพื่อให้ประชาชนทำจิตอาสาเพื่อดูแลผู้สูงอายุ จากนั้นนัดหมายอีก 3 เดือน จะประชุมหารือถึงความสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรค เพื่อเตรียมวางระบบธนาคารเวลาที่จะขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไป.