ปัญหาการกำจัดขยะของเสียจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป โลกทั้งใบกำลังจับจ้อง หากไม่มีกระบวนการกำจัดที่ถูกวิธี มาตรการกีดกันทางการค้าจะถูกนำมาใช้แบนสินค้านั้นๆ
ผศ.ดร.จิราภรณ์ ทองตัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า ด้วยผู้ประกอบการโรงสีข้าวใน จ.สุรินทร์ ได้นำข้าวหอมมะลิและน้ำมันรำข้าวไปออกงานแสดงสินค้าในตลาดยุโรป นักธุรกิจต่างชาติได้สนใจสอบถามเรื่องการสกัดน้ำมันรำข้าวหอมมะลิ มีกระบวนการอย่างไร มีของเหลือทิ้งหรือขยะจากการแปรรูปมากแค่ไหน กำจัดด้วยวิธีใด ถ้าไม่สามารถอธิบายให้ชัดเจน นักธุรกิจจะยังไม่เจรจาทำการค้าด้วย เพราะทางสหภาพยุโรปเริ่มมีมาตรการกีดกันสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว
“ที่ผ่านมาการสกัดน้ำมันรำข้าว จะมีไขรำข้าวหรือแวกซ์เหลือทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก การกำจัดมักจะใช้วิธีนำไปผสมในอาหารสัตว์ แต่ก็กำจัดได้ไม่หมด ส่วนใหญ่จะใช้วิธีจ้างคนงานมาขนไปทิ้งเป็นขยะ สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจึงนำโจทย์มาให้ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ช่วยหาวิธีกำจัดแวกซ์ไขรำข้าวเพื่อจะได้ไม่ถูกสหภาพยุโรปกีดกันสินค้า”
...
ผศ.ดร.จิราภรณ์ บอกว่า จากการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากแวกซ์ สามารถทำได้ 2 วิธี อย่างแรก นำไขรำข้าวมาสกัดใหม่อีกรอบให้เป็นน้ำมันรำข้าวด้วยการทำให้บริสุทธิ์ แต่วิธีนี้การผลิตจะไม่คุ้มทุน เพราะต้นทุนสูงเกินไป แถมยังได้น้ำมันรำข้าวน้อย อีกวิธีนำแวกซ์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอย่างอื่น เพราะในแวกซ์มีกรดไขมัน (fatty acids) สารลดแรงตึงผิว (esters of higher alcohol) วิตามินอี (vitamin E) สารต้านอนุมูลอิสระ (gamma oryzanol) และยังมีสารเซราไมด์ (Ceramide) บำรุงผิวพรรณให้นุ่มนวลอ่อนเยาว์ ซึ่งสรรพคุณต่างๆ เหมาะที่จะนำไปใช้ในกลุ่มธุรกิจสปา
“เราเลยมุ่งแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสปาเท้า เพราะไขที่ได้มีสีน้ำตาล ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับร่างกายส่วนอื่น ที่สำคัญยังไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยด้วยการนำแวกซ์มาผ่านความร้อนให้ละลาย ผสมลงไปในครีมสูตรเฉพาะ และเติมกลิ่นมะลิลงไปเพื่อคงความเป็นไทย โดยผลิตออกมาทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรพอกเท้า (มาสสาจ) สูตรผลัดเซลล์ผิว และสูตรบำรุงฟื้นฟูผิว”
และเมื่อนำไปทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัครในมหาวิทยาลัย...นอกจากช่วยแก้ปัญหาริ้วรอยแตก ลดการเกิดตาปลา ยังช่วยให้ผิวหนังบริเวณเท้านุ่ม และยังแก้ปัญหาเท้ามีกลิ่นเหม็นได้อีกด้วย
ไขรำข้าว 1 กก. นำมาผสมสูตรครีมสปาเท้าได้ 200 ตลับ ขายได้ 32,000 บาท โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 8,000 บาท
จากไขรำข้าวมีราคา กก.ละ 12 บาท แปรรูปเป็นครีมสปาเท้าได้มูลค่าเพิ่มถึง 2,000 เท่า สนใจสอบถาม 08–1300–2594.
เพ็ญพิชญา เตียว