พีทมอส วัสดุเพาะต้นกล้ายอดนิยม แต่ละปีเราต้องนำเข้า ปีละกว่า 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี...ในขณะที่หลายประเทศเริ่มรณรงค์ให้เลิกใช้ เพราะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากต้องขุดขึ้นมาจากชั้นดิน
แต่วันนี้บ้านเรามีวัสดุเพาะต้นกล้าแบบใหม่ “เคยูโคโค่พีท” ที่รักษ์โลกไม่ทำลายธรรมชาติ เพราะทำมาจากเปลือกมะพร้าวอ่อน
เป็นผลงานศึกษาวิจัยของ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ และทีมวิจัย ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตนครปฐม...ทดลองนำเปลือกมะพร้าวอ่อนเหลือทิ้ง ที่แต่ละปีมีเป็นจำนวนมาก มาหมักร่วมกับจุลินทรีย์ และปรับสภาพทางเคมี เพื่อนำมาใช้ทดแทนพีทมอสนำเข้าจากต่างประเทศ
วิธีการ...นำเปลือกมะพร้าวอ่อนมาเข้าเครื่องขูดให้เป็นขุย แล้วนำไปปรับคุณสมบัติให้มีธาตุอาหารเทียบเท่าพีทมอสนำเข้าจากต่างประเทศ เติมยูเรีย แคลเซียมไนเตรท เติมน้ำ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน
จากนั้นทำการหมักเหมือนกับการหมักปุ๋ยทั่วไป แต่ต้องหมักในภาชนะที่สามารถเป่าอากาศเข้าไปได้ เผื่อกรณีขุยมะพร้าวที่หมักไว้มีอุณหภูมิสูงเกินไป จะได้มีเครื่องเป่าอากาศมาช่วยลดความร้อนลง...หมักทิ้งไว้ 2 เดือน ผลผลิตจะออกมาเป็น “โคโค่พีท” ที่เหมาะต่อการเพาะต้นกล้า
จากการทดลองในแปลงเพาะกล้า พบอัตรางอกการเจริญเติบโตแทบไม่ต่างจากพีทมอส แต่มีข้อดีกว่า...สามารถปรับสัดส่วนการอุ้มน้ำและระบายอากาศได้ดีกว่า ทำให้สามารถ ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบส่วนผสมหรือสูตรการทำให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิดได้ตามต้องการ
“โคโค่พีท” มีราคาต้นทุนการผลิตอยู่ที่ลิตรละ 3 บาท ในขณะที่พีทมอสนำเข้าจากต่างประเทศนั้นราคาต้นทุนอยู่ที่ลิตรละไม่ต่ำกว่า 6 บาท.
...
สะ-เล-เต