สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กำลังจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาท่าอากาศยานหรือสนามบินใหม่ 2 แห่ง เพื่อรองรับการจราจรทางอากาศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป้าหมาย 2 พื้นที่คือ สนามบินภูเก็ต และ สนามบินเชียงใหม่

เรื่องนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกับความจำเป็นเร่งด่วนเพราะสนามบินทั้ง 2 แห่งขยายออกไปจนไม่มีทางไปแล้วแต่ก็ไม่อาจรองรับความต้องการในการเดินทางทั้งในประเทศและนอกประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่จะสร้างสนามบินใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงนั้นจากการสำรวจตรวจสอบเบื้องต้นไม่อาจจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในจังหวัดเดิมได้ต้องขยายขอบข่ายไปยังจังหวัดใกล้เคียงกล่าวคือ สนามบินภูเก็ต แห่งที่สองจะต้องไปสร้างที่ จังหวัดพังงา ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่งหรืออำเภอท้ายเหมือง และ สนามบินเชียงใหม่ ต้องไปสร้างในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ ของจังหวัดเชียงใหม่เอง และที่ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินเดิมนัก

ปัญหาก็คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย คิดเอาแต่ความสะดวกในการบริหารและความเข้าใจของลูกค้าเป็นที่ตั้ง โดยไม่ได้แยแสถึงความรู้สึกนึกคิดของเจ้าของพื้นที่ในจังหวัด ไปสร้างสนามบินที่ จังหวัดพังงา แต่กลับใช้ชื่อว่า สนามบินภูเก็ตแห่งที่สอง หรือไปสร้างสนามบินที่ จังหวัดลำพูน แต่กลับใช้ชื่อว่า สนามบินเชียงใหม่แห่งที่สอง

ทั้งๆที่รูปแบบการปกครองของไทยเราตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบ่งพื้นที่การปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดต่างๆ 76 จังหวัด เป็นเอกเทศไม่ขึ้นตรงต่อกัน

ถ้าจะจำแนกสนามบินในประเทศไทยที่เป็นของรัฐ สนามบินขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ชื่อว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 70% มีสนามบินอยู่ 6 แห่งคือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย

...

ท่าอากาศยานพิเศษที่มีเที่ยวบินพาณิชย์ขึ้นลงอีกแห่งคือ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ ก็ไม่ได้เรียกว่า สนามบินพัทยา ทั้งๆที่พัทยามีชื่อเสียงดังในระดับโลก

สนามบินขนาดรองลงมาถึงสนามบินขนาดเล็ก อยู่ในความดูแลของ กรมท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีสนามบินที่มีเที่ยวบินพาณิชย์เปิดทำการทั้งสิ้น 23 แห่ง ประกอบด้วย 1.สนามบินกระบี่ 2.สนามบินขอนแก่น 3.สนามบินชุมพร 4.สนามบินตรัง 5.สนามบินแม่สอด จังหวัดตาก 6.สนามบินนครพนม 7.สนามบินนครศรีธรรมราช 8.สนามบินนราธิวาส 9.สนามบินน่านนคร 10.สนามบินบุรีรัมย์ 11.สนามบินหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 12.สนามบินพิษณุโลก 13.สนามบินแพร่ 14.สนามบินแม่ฮ่องสอน 15.สนามบินปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 16.สนามบินร้อยเอ็ด 17.สนามบินระนอง 18.สนามบินเลย 19.สนามบินลำปาง 20.สนามบินสกลนคร 21.สนามบินนานาชาติสุราษฎร์ธานี 22.สนามบินนานาชาติอุดรธานี 23.สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี (ตอนกำลังสร้างสนามบินเบตง จังหวัดยะลา)

เมื่อครั้งที่สร้างสนามบินหนองงูเห่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเสร็จเรียบร้อยแล้วได้รับพระราชทานชื่อว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นชื่อกลางๆ ก็เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเพราะถ้าหากใช้ชื่อว่า ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ แห่งใหม่ ชาวปากน้ำ คงไม่สบายใจนัก คนบางกอก ก็คงเก้อเขินพิกล

ถ้าไม่เคารพขนบธรรมเนียมที่เคยมีมาตลอดจนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดนั้นๆยังแต่จะเกิดความร้าวฉานในบ้านเมืองเพียงเพื่อเอาความสะดวกในการเรียกขานเข้าว่า เรื่องนี้คิดผิดคิดใหม่ได้นะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พังงาขอให้ถอดบทเรียนเรื่องป่าแหว่งที่เชียงใหม่มาประกอบการพิจารณาด้วย.

“ซี.12”