สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการโพสต์จำหน่ายเสื้อผ้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook Instagram หรือ LINE เป็นต้น แต่ต่อมาถูกล่อซื้อเสื้อผ้าที่โพสต์จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว กระทั่งได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบ สวน เพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ลายผ้า ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ลายผ้าดังกล่าว โดยเรียกร้องเงินค่าเสียหายตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 25,000 บาท สร้างความเสียหายให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เป็นอย่างมาก เท่าที่ทราบผู้ที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว ได้รวมตัวกันประมาณเกือบ 30 คน เพื่อจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อไป
ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกออกหมายเรียกจะเป็นเพียงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายย่อย บางส่วนยังเป็นเยาวชน เป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา ไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ไม่มีสินค้าจริงอยู่ในความครอบครอง เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการทำอาชีพเสริมรายได้ โดยได้สมัครเป็นทีมขายตามที่มีผู้ประกาศเชิญชวนในเพจหรือเว็บไซต์ต่างๆ
เมื่อมีผู้สั่งซื้อเสื้อผ้า พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะสั่งซื้อเสื้อผ้ามาจากเพจหรือเว็บไซต์อีกทอดหนึ่ง เพื่อให้เพจหรือเว็บไซต์ดำเนินการจัดส่งเสื้อผ้าไปยังลูกค้าโดยตรง พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะได้รับส่วนต่างจากยอดขายประมาณ 30 ถึง 50 บาทต่อชิ้นเท่านั้น แต่สุดท้ายต้องมาชดใช้ค่าเสียหายเป็นหลัก 10,000 บาท ถึง 25,000 บาท ทั้งที่เป็นผู้ค้ารายย่อยและไม่ทราบว่าเสื้อผ้าดังกล่าวเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ลายผ้า ที่สำคัญเพจหรือเว็บไซต์ที่ประกาศเชิญชวนให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์นำเอาภาพในเพจหรือเว็บไซต์ของตัวเองไปจำหน่ายนั้น ไม่แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด
...
การจำหน่ายเสื้อผ้าหรือสินค้าอันละเมิดลิขสิทธิ์ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใด อย่างหนึ่ง แก่งานนั้น เพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
มาตรา 70 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความน่าสงสัยหลายประการ เช่น
1. มีการแจ้งความร้องทุกข์จริงหรือไม่ เนื่องจากคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เสียหายจะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์ก่อน พนักงานสอบสวนจึงจะมีอำนาจในการออกหมายเรียกผู้ต้องหามาเข้าพบเพื่อทำการสอบสวน
2. การออกหมายเรียก ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้จัดพิมพ์หมายเรียก และพิมพ์หน้าซอง แต่ในขั้นตอนของการส่งหมายเรียกนั้น กลับเป็นผู้เสียหายเองเป็นผู้นำส่งเอง โดยวิธีการลงทะเบียนด่วนพิเศษ หรืออีเอ็มเอส
3. เหตุใดผู้เสียหายจึงแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดหรือเรียกร้องค่าเสียหายกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยที่ไม่แจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือผู้จัดส่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ทั้งที่เป็นต้นตอของการละเมิดลิขสิทธิ์ลายผ้า
4. ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานลวดลายผ้าดังกล่าวจริงหรือไม่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ลวดลายบนผ้าที่ผู้เสียหายอ้างว่าเป็นผู้ประดิษฐ์หรือคิดค้นลวดลายดังกล่าว มีส่วนคล้ายคลึงกับลวดลายบนผ้า ซึ่งเป็นของแบรนด์ยี่ห้อดังระดับโลก ซึ่งอาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในแหล่งที่มาของสินค้าได้ ลวดลายบนผ้าที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างในคดีอาจจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ประกอบกับยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับรองลวดลายผ้าดังกล่าว เพียงแต่พบว่าได้ยื่นคำขอทะเบียนไว้เท่านั้น
5. การล่อซื้อเสื้อผ้าที่ดังกล่าวเป็นการแสวงหาพยานหลักฐาน โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 หรือไม่
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
6. การโพสต์ภาพเสื้อผ้าประกอบการขาย โดยที่ผู้โพสต์ไม่ทราบว่าเสื้อผ้าดังกล่าวเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อีกทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตเสื้อผ้าละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีนี้จึงเป็นการขาดเจตนาในการกระทำความผิด ผู้โพสต์ภาพเสื้อผ้า โดยที่ไม่ได้มีเจตนาจะละเมิดลิขสิทธิ์ จึงไม่น่าจะต้องรับผิดตามกฎหมาย

...
จากข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย และการตั้งข้อสังเกตในคดีนี้ พบว่าต้นตอที่แท้จริงในการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น อยู่ที่ผู้ผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ลายผ้าหรือไม่ การดำเนินคดีกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เป็นเพียงผู้นำภาพเสื้อผ้ามาโพสต์ขายในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ และเป็นบทเรียนให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ทราบว่าต่อไปนี้หากมีความประสงค์จะจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าหรือเป็นสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ควรทดสอบให้แน่ใจก่อนว่าผู้ที่จะนำสินค้ามาให้ขายนั้น ได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าอย่างถูกต้องแล้ว
สุดท้ายนี้อยากให้เข้าใจพนักงานสอบสวน ผู้ที่รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายด้วย เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับแจ้งความทุกคดี หากปฏิเสธไม่รับแจ้งความก็จะมีความผิดตามกฎหมายตามมาอีก ทั้งนี้ หากท่านถูกเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหาท่านมีสิทธิ์ปฏิเสธ พร้อมทั้งสามารถที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนการสอบสวนได้ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองว่า ไม่ได้มีเจตนาในการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเป็นเพียงเครื่องมือในการกระทำความผิดของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น โดยพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการต่อไป
สำหรับผู้ที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลล์มาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK ได้เลย
...