ถือเป็นความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ของนักวิชาการเกษตรไทยสามารถปรับปรุงมันสำปะหลัง จากเดิมทีแปรรูปเป็นได้แค่แป้งมันราคาถูก ให้กลายเป็นแป้งมีราคาแพง นำไปทำเบเกอรีได้เหนือชั้นกว่าแป้งข้าวสาลี

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมือของนักวิจัยไทย 3 องค์กร ดร.โอภาษ บุญเส็ง อดีตนักวิชาการกรมวิชาการเกษตร รศ.ดร.กนกพร ไตรวิทยากร สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549 ปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อให้ได้พันธุ์ที่คนสามารถนำหัวมาบริโภคได้ ปลูกได้ในสภาพพื้นที่เป็นไร่ ใช้น้ำน้อย ไม่ใช่ปลูกข้างบ้านไม่กี่ต้นและต้องคอยรดน้ำทุกวัน อย่างมันสำปะหลัง พันธุ์ห้านาที

โดยนำพันธุ์ห้านาทีมาผสมกับพันธุ์ห้วยปง 60 จนได้มันสำปะหลังสายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะทรงต้นตั้งตรง แตกกิ่งที่ระดับสูง มีก้านใบสีแดง ให้หัวดก สามารถปลูกได้ดีในสภาพไร่ ให้ผลผลิต 5.34 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสด 26.2% ต่างจากพันธุ์ห้านาที ซึ่งปลูกได้เฉพาะพื้นที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์เท่านั้น

...

จากนั้นทีมงานได้นำมันสำปะหลังพันธุ์ที่ได้ไปทำการคัดเลือกพันธุ์ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ดีที่สุดตามวิธีมาตรฐานภายใต้ชื่อรหัสพันธุ์ MBR49-2-109 และตั้งชื่อใหม่ว่า “พิรุณ 4” ซึ่งอยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตร

ดร.โอภาษ เผยว่า พันธุ์พิรุณ 4 เป็นมันสำปะหลังที่ใช้รับประทาน สามารถนำไปใช้ทำแป้งฟลาว หรือแป้งที่นำมาผลิตเป็นขนมปัง เบเกอรี เค้ก ทดแทนแป้งข้าวสาลีที่มีราคาแพงได้เป็นอย่างดี ทดแทนได้ 100% แถมเค้กที่ได้ออกมามีเนื้อสัมผัสและรสชาติดีกว่าทำจากแป้งสาลี

“เมื่อนำหัวมันพิรุณ 4 ไปตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บ พบว่า ในหัวมันมีปริมาณไซยาไนด์ต่ำ ปราศจากกลูเต็น (gluten) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต และข้าวบาร์เลย์ ที่มักจะก่อให้เกิดโรคแพ้กลูเต็น เกิดภาวะย่อยยาก ลำไส้เล็กไม่ดูดซึม ท้องอืด ลำไส้อักเสบ และขาดธาตุอาหาร”

นอกจากนั้น มันฯพิรุณ 4 ยังสามารถนำไปต้มหรือเชื่อม จะมีเนื้อที่อ่อนนุ่ม รสชาติอร่อยกว่าพันธุ์ห้านาที เกษตรกรที่สนใจต้นพันธุ์ สอบถามได้ที่ 08-1674-0426.