จั่วหัวเรื่องไว้อย่างนี้ อย่าเพิ่งนึกขำ จะมาบอกทำไมรู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง...วัวควายกินหญ้ากันทั้งนั้น
แต่ที่ต้องย้ำเตือนกัน เพราะวันนี้สภาพสังคมเปลี่ยนไป อาชีพเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ วัว ควาย แพะ แกะ รายได้ดีกว่าทำนา คนแห่ทำตามกันไม่ใช่น้อย นอกจากจะมีคนเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น พื้นที่สาธารณะให้นำไปปล่อยแทะเล็มหญ้าฟรีๆมีน้อยลง
เกษตรกรจำต้องพึ่งพาอาหารเม็ด อาหารข้นมากขึ้น...ธุรกิจอาหารสัตว์บูม
แต่อย่าหลงเพลินไปว่า แพะ แกะ วัว ควาย กินอาหารสำเร็จแล้วจะเติบโตได้ดี เนื่องจากกระเพาะของสัตว์เหล่านี้ไม่เหมือนคน
คน หมู หมา กา ไก่ ฯลฯ มีกระเพาะเดียว กินอาหารลงไป ในกระเพาะจะมีน้ำย่อยมาช่วยย่อยอาหารให้ร่างกายดูดซึม นำไปใช้ประโยชน์ได้... กระบวนการย่อยแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง
แต่สัตว์เคี้ยวเอื้องมี 4 กระเพาะ...กินแต่ละครั้งกว่าจะย่อยหมดจะใช้เวลา 3–5 วัน
“สัตว์เหล่านี้ไม่มีน้ำย่อย แต่จะมีจุลินทรีย์มาทำหน้าที่เป็นตัวย่อยอาหารแทน การเคี้ยวกินอาหารแต่ละครั้ง หากอาหารชิ้นไหนหยาบและใหญ่ไป จุลินทรีย์ยากจะย่อยได้ มันจะขย้อนอาหารออกมาบดเคี้ยวให้ละเอียดและกลืนลงไปหมักใหม่อีกรอบ อาการอย่างนี้แหละที่เรียกว่า เคี้ยวเอื้อง”
...
อิทธิพล เผ่าไพศาล ผอ.สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ อธิบายคร่าวๆถึงการย่อยอาหารของแพะ แกะ วัว ควาย ทำไมถึงต้องกินหญ้า อาหารหยาบ หรืออาหารที่มีกากใย ไฟเบอร์สูง เป็นหลัก...แต่ละวันต้องได้อาหารหยาบอย่างน้อยๆ 70% ของปริมาณอาหารทั้งหมด
แต่ถ้าให้กินอาหารข้นมากเกินไป...อาหารพวกนี้จะก่อให้เกิดภาวะความเป็นกรด ส่งผลให้จุลินทรีย์ในกระเพาะหยุดการทำงาน เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ร่างกายได้สารอาหารหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ สัตว์จะเจ็บป่วยและตายได้
ส่วนที่กังวลกันว่า ถ้าเลี้ยงให้กินหญ้ามาก กินอาหารข้นน้อย สัตว์เหล่านี้จะโตช้า ผอ.สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ แนะ เกร็ดในการเลือกอาหารหยาบ...มีโปรตีนสูง จุลินทรีย์มาก
อาหารสดดีกว่าอาหารแห้ง...เพราะของสดมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยอาหารมากกว่าของแห้ง
ฟางแห้งไม่จำเป็น ห่างเข้าไว้ นอกจากมีโปรตีนต่ำแค่ 2% แถมยังไร้จุลินทรีย์ช่วยย่อย
พืชอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูง หญ้ารูซี่ หญ้ากินนี โปรตีน 7% หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 โปรตีน 8%
ดีที่สุดในปัจจุบัน ผอ.อิทธิพลแนะนำ “ใบหม่อน” โปรตีนสูงถึง 20%...เรียกว่าเอาชนะอาหารข้นได้หลายสูตรก็แล้วกัน
และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น...ให้นำพืชอาหารสัตว์สดๆมาหั่นสับไปหมักไว้ 7-14 วัน เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ช่วยย่อยให้สัตว์นำอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้เร็วขึ้น จะยิ่งทำให้สัตว์โตไวขึ้นไปอีก.
ชาติชาย ศิริพัฒน์